ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 10
29 Oct , 2020

ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 10

ท้องป่องแล้ว! ตอนนี้เมื่อมีอายุครรภ์ได้ 10 สัปดาห์ ความสงสัยของคุณแม่อาจคลายลงไปแล้วเมื่อรูปร่างเริ่มดูเหมือนคนท้องแล้วจริง ๆ เพราะตอนนี้คือเวลาที่ถูกต้องค่ะ นี่คือเหตุผลที่สัปดาห์ที่ 10 เป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการช้อปปิ้งเล็ก ๆ น้อย ๆ เวลาไปซื้อของให้มองหาเสื้อผ้าหลวม ๆ ตัวใหม่เอาไว้นะคะ และอาจเป็นครั้งแรกสำหรับการซื้อเสื้อคนท้องด้วย แต่ก็อย่าเพิ่งซื้ออะไรมามากเกินไป เพราะในขณะที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง คุณแม่จะอยากซื้อของใช้ที่จำเป็นมากกว่า อย่าลืมว่าร่างกายของเราจะต้องเปลี่ยนแปลงอีกหลายสัปดาห์ทีเดียวค่ะ

ในสัปดาห์นี้ คุณแม่และลูกในท้องมีพัฒนาการที่ดีมากเลยนะคะ ลูกไม่ได้เป็นเพียงแค่เอ็มบริโออีกต่อไปแล้ว ตอนนี้ลูกเป็นตัวอ่อนจริง ๆ แล้วค่ะ นั่นหมายความว่าเขาจะมีลักษณะหน้าตาเหมือนเด็กจริง ๆ มากขึ้นทุกวัน และคุณแม่ก็กำลังใกล้จะพ้นช่วงไตรมาสแรกอันสาหัสในอีกไม่นานนี้

ทารกในครรภ์อายุ 10 สัปดาห์มีขนาดตัวเท่าใด

ในสัปดาห์ที่ 10 ของการตั้งครรภ์ ทารกมีขนาดเท่าผลสตรอว์เบอร์รี ยาวราว 1.2 นิ้ว และมีน้ำหนักประมาณ 0.14 ออนซ์ ทารกในครรภ์อายุ 10 สัปดาห์จะตัวยาวขึ้นหนึ่งเท่าในสามสัปดาห์ข้างหน้า เร็วมากเลยใช่ไหมคะ!

ตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน

เมื่อตั้งครรภ์ได้ 10 สัปดาห์ เท่ากับคุณแม่อุ้มท้องมาสองเดือนกับอีกสองสัปดาห์แล้วนะคะ แต่อย่าลืมว่าคุณหมอจะติดตามการตั้งครรภ์แบบรายสัปดาห์ ไม่ใช่รายเดือน นั่นก็เพราะว่าการตั้งครรภ์ใช้ระยะเวลา 40 สัปดาห์ โดยประเมินจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย ซึ่งแปลว่าเกิน 9 เดือนนะคะ

อาการเมื่อตั้งครรภ์ได้ 10 สัปดาห์

สงสัยไหมคะว่าในสัปดาห์ที่ 10 นี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ขณะที่ลูกน้อยกำลังเติบโต เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อของคุณแม่ก็กำลังยืดออกในครรภ์อายุ 10 สัปดาห์เช่นกัน หน้าอกของคุณแม่จะขยายขึ้นและจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเกิดขึ้น อาการทั่วไปที่เจอเมื่อตั้งครรภ์ได้ 10 สัปดาห์มีดังต่อไปนี้

  • ปวดหน่วงท้องน้อย ไม่ต้องตกใจนะคะ ถ้าคุณแม่เริ่มรู้สึกถึงอาการปวดในท้องที่กำลังขยายออกเพื่อรองรับลูกที่กำลังเติบโต คุณแม่บางคนอาจจะไม่รู้สึก แต่คุณแม่หลายคนรู้สึกถึงอาการนี้ที่เรียกว่า “การปวดหน่วงท้องน้อย” ซึ่งสามารถปวดได้มากทีเดียวค่ะ ถ้าคุณแม่อุ้มครรภ์แฝดอายุ 10 สัปดาห์อาการปวดหน่วงท้องน้อยอาจจะชัดเจนมากกว่า อย่าลืมแจ้งสูตินรีแพทย์นะคะ ถ้าคุณแม่รู้สึกไม่สบายมากหรือมีความกังวลเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ เมื่อตั้งครรภ์ได้ 10 สัปดาห์
  • หน้าอกขยาย หน้าอกของคุณแม่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ได้ 10 สัปดาห์ เนื่องจากมีการเตรียมพร้อมสำหรับการสร้างน้ำนมมาหลายสัปดาห์แล้ว!
  • แพ้ท้อง อาการคลื่นไส้อาเจียนเป็นเรื่องปกติในช่วงสัปดาห์ที่ 10 ข่าวดีก็คือมันกำลังจะหายไปในอีกไม่นานนี้ เมื่อคุณแม่เข้าสู่ไตรมาสที่สอง
  • อารมณ์แปรปรวน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเป็นต้นเหตุของอารมณ์ที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ของคุณแม่ค่ะ
  • อ่อนเพลีย คุณแม่รู้สึกหมดแรง สาเหตุนั้นไม่ใช่แค่ร่างกายของคุณแม่กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อเลี้ยงทารกให้เติบโต แต่คุณแม่อาจจะนอนได้ไม่ดีพอจากฝันประหลาด ๆ ด้วยนะคะ
  • ตกขาว การที่มีเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงบริเวณอวัยวะเพศมากขึ้นประกอบกับการผลิตเอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้นจะทำให้มีตกขาวลักษณะใสและไม่มีกลิ่นออกมามากกว่าเดิม ซึ่งอาจจะทำให้คุณแม่ไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่ แต่นี่เป็นหนทางโดยธรรมชาติในการกำจัดแบคทีเรียค่ะ หากตกขาวมีสี มีเลือดปน มีกลิ่นไม่ดี หรือทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบาย อย่าลืมแจ้งคุณหมอให้ทราบนะคะ นั่นเป็นสัญญาณของอะไรบางอย่างแน่นอน
  • เส้นเลือดที่ชัดขึ้น เส้นเลือดสีเข้มเป็นการเตือนที่สำคัญค่ะ เพราะนั่นคือสัญญาณของการไหลเวียนเลือดที่มากขึ้นในร่างกายคุณแม่เพื่อลูกน้อยที่กำลังโต!

ท้องของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์

ท้องของคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 10 สัปดาห์จะเริ่มป่องแล้วในตอนนี้ เพราะลูกที่อยู่ข้างในเติบโตอย่างรวดเร็ว ท้องของคุณแม่จึงเริ่มยื่นออกมา คุณแม่อาจจะยังไม่ได้ดูเหมือนคนท้องสำหรับคนที่ได้พบเจอก็จริง แต่ในตอนนี้คุณแม่อาจจะต้องการกางเกงคนท้องที่มีเอวยืดและเสื้อหลวม ๆ แล้วค่ะ

คุณหมอหลายท่านแนะนำว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีดัชนีมวลกายปกติควรน้ำหนักขึ้นประมาณหนึ่งถึงห้าปอนด์ในไตรมาสแรก เพราะฉะนั้นคุณแม่ทำได้ดีมากค่ะ ถ้าตอนนี้น้ำหนักขึ้นมาได้สักสองสามปอนด์แล้ว

ในสัปดาห์ที่ 10 ถ้าคุณแม่อุ้มท้องแฝด คุณหมออาจจะแนะนำให้คุณแม่เพิ่มน้ำหนักสัปดาห์ละหนึ่งปอนด์ในช่วงครึ่งแรกของการตั้งครรภ์ นั่นหมายความว่าคุณแม่อาจจะมีน้ำหนักขึ้นได้ถึง 10 ปอนด์เมื่อมีอายุครรภ์เข้าสัปดาห์ที่ 10 แต่ไม่ต้องกังวลถ้าน้ำหนักไม่ได้ขึ้นมาตามเกณฑ์นั้น หรือต่อให้น้ำหนักลดจากอาการแพ้ท้องก็ตาม คุณแม่จะสามารถทำน้ำหนักได้ตามเกณฑ์ในช่วงไตรมาสที่สองเมื่ออาการคลื่นไส้ลดลง

การอัลตราซาวนด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 10 สัปดาห์

สัปดาห์ที่ 10 ถือว่าช่วงเวลาสำคัญนะคะ ลูกไม่ใช่แค่เอ็มบริโออีกต่อไป ตอนนี้เป็นตัวอ่อนจริง ๆ แล้ว สองคำนี้ให้ความหมายของระยะพัฒนาการที่ต่างกัน ระยะเอ็มบริโอคือการสร้างอวัยวะสำคัญ ทั้งสมอง หัวใจ และปอด รวมถึงแขนและขาด้วย แต่เมื่อลูกเป็นตัวอ่อน อวัยวะเหล่านั้นเป็นรูปเป็นร่างแล้ว กำลังพัฒนาและเติบโต

ในสัปดาห์ที่ 10 ทารกกำลังสร้างข้อต่อแขน กระดูกอ่อน และกระดูก ส่วนของเล็บและเส้นผมก็เริ่มปรากฏขึ้นมาในช่วงนี้เช่นกันค่ะ และเชื่อไหมคะว่าตอนนี้ ลูกกำลังฝึกกลืนและเตะขาอยู่ในท้องอายุ 10 สัปดาห์ของคุณแม่ด้วย

สัปดาห์ที่ 10 ยังเป็นช่วงเวลาที่สำคัญถ้าคุณแม่ตัดสินใจว่าจะตรวจความผิดปกติของดีเอ็นเอในยีนในช่วงไตรมาสแรก การตรวจนี้ไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นต้องทำเสมอไป คุณแม่เลือกที่จะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่ที่ปรึกษาด้านพันธุศาสตร์สามารถช่วยให้คุณแม่ตัดสินใจได้ว่าจะตรวจหรือไม่โดยดูจากประวัติครอบครัวและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ

การตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อวัดความหนาของน้ำที่สะสมบริเวณต้นคอทารก (Nuchal Translucency หรือ NT scan) จะเกิดขึ้นในระหว่างสัปดาห์ที่ 10 และ 14 นี่คือการตรวจหาความเสี่ยงในการเป็นดาวน์ซินโดรมของทารกในครรภ์ รวมถึงความผิดปกติทางโครโมโซมอีกหลายรายการ คุณแม่จะได้รับการอัลตราซาวนด์ที่ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด และจะมีการวัดหนังต้นคอด้านหลังของทารกเพื่อหาสัญญาณของความผิดปกติ การทำ NT scan เป็นส่วนหนึ่งของ “การคัดกรองในไตรมาสแรก” ที่จะมีการตรวจเลือดของคุณแม่ ความเสี่ยงต่าง ๆ จะถูกประเมินโดยดูจากทั้งผลอัลตราซาวนด์และผลเลือด

การตรวจวิเคราะห์หาสารพันธุกรรมของรกและทารกในเลือดมารดา (cell-free fetal DNA test) รู้จักกันอีกชื่อคือการตรวจ NIPT เป็นการตรวจเลือดที่ทำในช่วงสัปดาห์ที่ 10 หรือหลังจากนั้น เป็นการคัดกรองผ่านเลือดของคุณแม่ว่าลูกมีสัญญาณความเสี่ยงในการเป็นดาวน์ซินโดรม เอ็ดเวิร์ดซินโดรม พาทัวซินโดรม และความผิดปกติทางโครโมโซมอื่น ๆ หรือไม่

การตรวจแบบเจาะเข้าไปในท้องอื่น ๆ ได้แก่ การเจาะชิ้นเนื้อรก (CVS) และการเจาะน้ำคร่ำ สามารถใช้ในการวินิจฉัยความผิดปกติต่าง ๆ ได้เช่นกัน การตรวจนี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อคุณแม่มีความเสี่ยงสูงจากการอุ้มท้องทารกที่มีความผิดปกติทางโครโมโซม ไม่ว่าจะดูจากประวัติครอบครัว ปัจจัยเสี่ยง หรือการตรวจ NTS หรือ NIPT ก็ตาม

การเจาะชิ้นเนื้อรกจะทำในช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ 10 และ 13 โดยการใช้การอัลตราซาวนด์ระบุตำแหน่งของรกก่อน จากนั้นใช้เข็มเจาะผ่านหน้าท้องหรือทางช่องคลอดขณะใช้เครื่องมือถ่างขยายช่องคลอดเพื่อเก็บเซลล์จากรกมาตรวจ เซลล์เหล่านี้จะใช้ในการทดสอบหาความผิดปกติทางพันธุกรรม

หากคุณแม่ต้องการเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจสภาวะของทารกในครรภ์ การตรวจนี้จะเกิดขึ้นในระหว่างสัปดาห์ที่ 15 ละ 20 ค่ะ คุณแม่อาจรู้สึกเหนื่อยกับการตรวจมากมายหลายอย่างในช่วงไตรมาสที่หนึ่งและสองใช่ไหมคะ แต่ขอให้เชื่อเถอะว่าเมื่อการตรวจครบ จะมีอะไรสนุก ๆ ให้ทำเต็มไปหมดเลยค่ะ

รายการตรวจสอบสำหรับการตั้งครรภ์ 10 สัปดาห์

เรื่องที่ต้องทำในสัปดาห์นี้:

  1. นัดตรวจการเจาะชิ้นเนื้อรก (กรณีที่คุณแม่ต้องตรวจ)
  2. นัดตรวจอัลตราซาวด์ NT scan
  3. ตรววจสอบว่าออกกำลังอะไรได้บ้างในระหว่างตั้งครรภ์

Processing...

"" เพิ่มไปที่ตะกร้าเรียบร้อยแล้วดูตะกร้า

เพิ่มไปที่รายการโปรดเรียบร้อยแล้ว