ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 7
29 Oct , 2020

ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 7

คุณแม่กำลังเก็บความลับที่น่าตื่นเต้นสุด ๆ อยู่ใช่ไหม เพราะเมื่อตั้งท้องได้ 7 สัปดาห์ คุณแม่ยังสามารถใช้ชีวิตไปตามปกติได้ แม้ตัวเองกำลังท้องอยู่ก็ตาม ส่วนคนอื่น ๆ นั้นก็ยังสังเกตไม่ได้ ความรู้สึกอาจดูเหมือนอยู่ในฝัน! และเมื่อมีอายุครรภ์ 7 สัปดาห์ คุณแม่คงเริ่มสงสัยแล้วว่าจะเป็นยังไง เมื่อทุกคนรู้ว่าเรากำลังอุ้มท้องลูกน้อยที่โตขึ้นทุกวัน ไม่ต้องคิดอะไรให้มากนะคะ ตอนนี้แค่ปล่อยใจให้เพลิดเพลินกับความลับเล็ก ๆ นี้ได้ตามสบายเลยค่ะ

ทารกในครรภ์อายุ 7 สัปดาห์มีขนาดตัวเท่าใด

เมื่อตั้งครรภ์ได้ 7 สัปดาห์ ลูกน้อยยังมีขนาดเท่าผลบลูเบอร์รี่เท่านั้นเองค่ะ ตัวอ่อนมีความยาวราว .51 นิ้ว เติบโตขึ้นถึงสองเท่าเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่แล้ว แม้ว่าจะยังชั่งน้ำหนักไม่ได้ เจ้าตัวเล็กก็กำลังโตขึ้นอย่างรวดเร็วในครรภ์อายุ 7 สัปดาห์ของคุณแม่

ตั้งครรภ์ 7 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน

ตั้งครรภ์ 7 สัปดาห์เท่ากับตั้งครรภ์หนึ่งเดือนกับอีกสามสัปดาห์ แต่คุณแม่อย่าลืมว่าคุณหมอจะติดตามการตั้งครรภ์เป็นรายสัปดาห์มากกว่ารายเดือนนะคะ

อาการเมื่อตั้งครรภ์ได้ 7 สัปดาห์

เมื่อตั้งครรภ์ได้ 7 สัปดาห์ ว่าที่คุณแม่คนท้องอาจมีอาการต่างกันแบบขาวกับดำ คุณแม่บางคนแทบไม่มีอาการอะไรหนักหนาเลย แต่สำหรับคุณแม่อีกหลายคน การใช้ชีวิตในแต่ละวันกลับกลายเป็นเรื่องยาก อาการส่วนใหญ่มีดังนี้

  • คลื่นไส้ การแพ้ท้องจะรุนแรงขึ้นในสัปดาห์ที่ 7 ฮึบ ๆ อดทนเอาไว้ค่ะ ลองหาทางรับมือดูนะคะ ว่าที่คุณแม่บางคนบรรเทาอาการปั่นป่วนในท้องด้วยขิง วิตามิน B-6 และสายรัดข้อมือแก้คลื่นไส้ เมื่อระดับฮอร์โมนกลับมาเป็นปกติในช่วงไตรมาสที่สอง อาการคลื่นไส้ควรจะลดลงหรือหายไปเลย คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์แฝดได้ 7 สัปดาห์มีโอกาสที่จะคลื่นไส้อาเจียนได้มากกว่า เนื่องจากระดับฮอร์โมนที่ทำให้มีอาการแพ้ท้องเพิ่มสูงมาก
  • อยากอาหารหรือเบื่ออาหาร คุณแม่อาจรู้สึกว่าอยากรับประทานอาหารบางอย่างเป็นพิเศษหรืออาจจะเป็นอาหารแปลก ๆ ที่ไม่เคยกินมาก่อน หรืออีกอย่างคือไม่อยากเฉียดเข้าใกล้อาหารที่เคยคิดว่าน่ากิน (หรือบางอย่างอาจจะอร่อยจริง ๆ ด้วยซ้ำ!) การเบื่ออาหารเป็นวิธีการที่ธรรมชาติจะช่วยให้คุณแม่หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจมีอันตราย และเป็นการทำงานร่วมกับการแพ้ท้อง คุณแม่สามารถเพลิดเพลินกับการรับประทานได้เป็นครั้งคราวนะคะ แต่อย่าอร่อยเพลินจนหยุดไม่อยู่ และลองเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพมารับประทานนะคะ
  • ปัสสาวะบ่อย หากคุณแม่มีอาการปวดปัสสาวะบ่อย เรื่องนี้คุณแม่ไม่ได้คิดไปเองนะคะ ถึงรูปร่างจะไม่ได้ดูเหมือนคนที่กำลังตั้งครรภ์ แต่มดลูกของคุณแม่ขยายตัวขึ้นมาหนึ่งเท่าตัวแล้วในตอนนี้ และการไหลเวียนของเลือดไปที่อุ้งเชิงกรานยังเพิ่มขึ้นด้วย
  • สิว สิวที่เกิดขึ้นเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ก่อนที่จะใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวใด ๆ คุณแม่ลองถามคุณหมอดูก่อนนะคะ จะได้แน่ใจว่าปลอดภัยสำหรับผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์
  • มีน้ำลายมากกว่าปกติ นี่เป็นอาการที่คุณแม่อาจไม่เคยคาดคิดมาก่อน น้ำลายที่เพิ่มขึ้นนั้นก็เป็นผลจากฮอร์โมนเช่นกัน และยังเกี่ยวข้องกับอาการคลื่นไส้อีกด้วยค่ะ
  • อารมณ์แปรปรวน ไม่ใช่แค่ฮอร์โมนของคุณแม่เท่านั้นที่แปรปรวน คุณแม่ยังอาจรู้สึกคุ้นเคยกับการตั้งครรภ์มากขึ้นแล้ว และนั่นอาจทำให้คุณแม่มีอารมณ์อ่อนไหวเป็นพิเศษ
  • ปวดท้องน้อยและ/หรือมีเลือดออก อาการปวดท้องในช่วงตั้งครรภ์แรก ๆ เป็นเรื่องปกติของคนท้องนะคะ เพราะว่าในมดลูกเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย และถึงแม้ว่าจะอีกหลายสัปดาห์กว่าที่จะรู้สึกว่าลูกดิ้น คุณแม่ก็อาจมีอาการปวดท้องหน่วง ๆ ในช่วงนี้ได้ นอกจากนี้ ปากมดลูกในช่วงตั้งครรภ์จะมีความอ่อนไหวกว่าเดิม ดังนั้น คุณแม่จึงอาจมีเลือดออกได้หลังการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งสองอาการนี้อาจทำให้คุณแม่ตกใจได้ แต่ในกรณีส่วนใหญ่แล้ว นี่มักไม่ใช่สัญญาณของการตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือภาวะแท้งอื่น ๆ แต่ถ้าอาการปวดท้องของคุณแม่รุนแรงกว่าการปวดท้องประจำเดือนตามปกติ หรือมีเลือดออกในช่วงสัปดาห์ที่ 7 มากกว่าเลือดประจำเดือน ถือว่าเข้าข่ายน่าเป็นห่วง และควรปรึกษาคุณหมอทันทีนะคะ

จากที่กล่าวมานั้น ในช่วงการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 7 คุณแม่อาจจะไม่มีอาการอะไรเลยก็ได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ถือว่าโชคดีมาก ๆ เลยค่ะ! ว่าที่คุณแม่บางคนที่ไม่มีอาการผิดปกติจนถึงสัปดาห์ที่ 7 ก็อาจกังวลว่าเป็นสัญญาณที่บอกถึงปัญหาอะไรหรือเปล่า แต่จริง ๆ ไม่ใช่เลยค่ะ เราอยากจะบอกคุณแม่ว่าผู้หญิงแต่ละคนจะมีประสบการณ์การตั้งครรภ์ที่ต่างกันไปเล็กน้อย แต่ถ้ากังวลมาก คุณแม่ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์นะคะ ซึ่งถ้าหากว่าคุณแม่ไม่ได้มีอาการรุนแรงหรือเจ็บปวดมากเป็นพิเศษในช่วงการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 7 แปลว่าทุกอย่างปกติดีค่ะ

ท้องของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ 7 สัปดาห์

คุณแม่ได้ลองยืนหน้ากระจกเพื่อดูท้องตัวเองตอนอายุครรภ์ 7 สัปดาห์หรือเปล่าคะ หรืออาจจะลองแอ่นพุงให้ดูป่อง ๆ ด้วยว่าภาพจะออกมาอย่างไร ใช่แล้วค่ะ ว่าที่คุณแม่อย่างเรามักจะทำอย่างนั้นตอนสัปดาห์ที่ 7 ทั้งนั้นเลย

อาการของคุณแม่แต่ละคนจะต่างกันไปนะคะ แต่หลายคนบอกว่าเริ่ม “ท้องป่องชัดเจน” ในช่วงกลางไตรมาสที่สอง เมื่อมดลูกมีขนาดใหญ่พ้นอุ้งเชิงกรานออกมา คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดได้ 7 สัปดาห์ควรจะเริ่มเห็นได้ชัดก่อนหน้านั้น แต่ในระยะนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นอาการท้องอืดมากกว่า

การอัลตราซาวน์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 7 สัปดาห์

มหัศจรรย์จริง ๆ ว่าไหมคะ ตัวอ่อนอายุ 7 สัปดาห์กำลังสร้างเซลล์สมองใหม่ขึ้นราวหนึ่งร้อยเซลล์ในแต่ละนาที! และไม่ใช่เพียงสมองของทารกเท่านั้นที่เริ่มมีความซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ หัวใจของลูกน้อยก็เช่นกันค่ะ และพัฒนาการที่สำคัญไม่แพ้กันคือการที่ร่างกายของทารกในครรภ์เริ่มสร้างไตขึ้นมาแล้ว รวมถึงกระดูกข้อต่อแขนและขาด้วยค่ะ

เมื่อตั้งครรภ์ได้ 7 สัปดาห์ คุณแม่จะเริ่มไปพบคุณหมอเพื่อฝากครรภ์เป็นครั้งแรก และอาจจะอยากรู้มาก ๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป คุณแม่จะต้องตรวจร่างกายหลายอย่าง (เลือด ปัสสาวะ และเซลล์ปากมดลูกที่นำไปตรวจแปปสเมียร์) นอกจากนี้ยังมีการอัลตราซาวนด์เพื่อตรวจว่าลูกน้อยในครรภ์นั้นปกติดีไหมและมีการประเมินวันคลอดด้วยค่ะ (ใช่ค่ะ คุณแม่อาจจะประเมินเบื้องต้นด้วยตัวเองไว้แล้ว แต่แพทย์อาจจะมีการขยับเล็กน้อยตามผลการตรวจนะคะ)

การอัลตราซาวนด์เมื่ออายุครรภ์ได้ 7 สัปดาห์อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นเสมอไป เพราะสูตินรีแพทย์ส่วนใหญ่มักไม่ได้เจอคนไข้ที่มีความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ต่ำจนกว่าจะเข้าสัปดาห์ที่ 8 และ 10 ขึ้นอยู่กับระวัติสุขภาพของคุณแม่แต่ละคนและความถนัดของแพทย์แต่ละท่าน

ในระหว่างรอนี้ คุณแม่อาจรู้อะไรมากมายเต็มไปหมด และจะสงสัยด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังอุ้มท้องทารกมากกว่าหนึ่งคนหรือเปล่านะ อาการของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดเมื่อเข้าสัปดาห์ที่ 7 นั้นมีมากกว่าแค่การมองเห็นถุงน้ำของการตั้งครรภ์สองใบตอนอัลตราซาวนด์ ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณแม่ได้ตรวจการตั้งครรภ์ด้วยการตรวจเลือด คุณหมอจะพบว่าคุณแม่มีฮอร์โมน HCG (Human Chorionic Gonadotropin) สูงกว่าปกติ คุณแม่ลูกแฝดหลายคนมีอาการแพ้ท้องมากกว่าและ/หรือก่อนหญิงมีครรภ์คนอื่น ๆ (ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมน HCG) และแน่นอนว่าคุณแม่ที่อุ้มท้องลูกหลายคนก็ย่อมจะเริ่มมีอาการก่อนคนอื่น ๆ ค่ะ

รายการตรวจสอบสำหรับการตั้งครรภ์ 7 สัปดาห์

เรื่องที่ต้องทำในสัปดาห์นี้:

  1. อ่านข้อมูลเกี่ยวกับการทดสอบการตั้งครรภ์ที่คุณแม่อาจต้องตรวจ
  2. ดูให้แน่ใจว่าเครื่องสำอางที่ใช้อยู่ปลอดภัยต่อลูกในท้อง
  3. ตรวจสอบว่ายาชนิดใดบ้างที่คนท้องสามารถรับประทานได้

Processing...

"" เพิ่มไปที่ตะกร้าเรียบร้อยแล้วดูตะกร้า

เพิ่มไปที่รายการโปรดเรียบร้อยแล้ว