ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 6
ถึงตอนนี้ คุณแม่คงรู้แล้วใช่ไหมคะว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่ ในช่วงของการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 6 นี้ ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับคุณแม่ ดังนั้น เป็นเรื่องปกติที่คุณแม่จะมีอารมณ์อ่อนไหวได้ง่าย ซึ่งภาวะอารมณ์อ่อนไหวง่ายนี้ ก็ยังเป็นอาการของการตั้งครรภ์ในช่วงเริ่มต้นอีกด้วย เพราะเป็นช่วงฮอร์โมนแปรปรวน ทำให้คุณแม่มีอารมณ์ผิดปกติเหมือนช่วงก่อนมีประจำเดือนนั่นเอง จึงไม่ต้องแปลกใจเลยถ้าคุณแม่จะรู้สึกจิตตกในช่วงนี้ นอกจากนี้ ก็ยังมีเรื่องของอาการวิตกกังวลและความรู้สึกไม่สบายใจอีกด้วยนะ และนั่นก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณแม่มีเวลาถึง 40 สัปดาห์ในการปรับตัวให้ชินกับการตั้งครรภ์ แน่นอนว่าทารกน้อยในครรภ์เองก็ต้องใช้เวลาทั้งหมดนั้น เพื่อเจริญเติบโตขึ้นอย่างสมบูรณ์
ทารกในครรภ์อายุ 6 สัปดาห์มีขนาดตัวเท่าใด
ช่วงสัปดาห์ที่ 6 นี้ ทารกน้อยจะมีขนาดประมาณดอกสวีทพี หรือประมาณ .25 นิ้ว โดยขนาดตัวจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นและเพียงสัปดาห์หน้าเท่านั้น ทารกน้อยของคุณแม่ก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นอีกเท่าตัวเลยค่ะ!
ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน
โดยปกติแล้ว คุณหมอส่วนใหญ่จะนับอายุครรภ์เป็นสัปดาห์มากกว่าเป็นเดือน แต่ถ้าจะให้เปรียบเทียบ คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 6 สัปดาห์ ก็จะเท่ากับมีอายุครรภ์ประมาณ 1 เดือน กับอีก 2 สัปดาห์ และถึงแม้ว่าคุณแม่อาจจะเพิ่งค้นพบว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์เมื่อ 1 หรือ 2 สัปดาห์ก่อน นั่นก็เพราะว่าโดยปกติทั่วไป การนับการตั้งครรภ์จะเริ่มต้นเมื่อวันสุดท้ายของรอบเดือนล่าสุด ซึ่งคุณแม่อาจเริ่มตั้งครรภ์ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 หรือ 3 ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของรอบเดือน โดยคุณแม่จะยังไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์จนกว่าจะเริ่มสังเกตได้ว่าประจำเดือนยังไม่มาในสัปดาห์ที่ 5
อาการเมื่อตั้งครรภ์ได้ 6 สัปดาห์
ช่วง 6 สัปดาห์ถือเป็นระยะเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ คุณแม่จึงอาจยังไม่มีอาการใด ๆ แต่สำหรับบางท่านก็อาจรู้สึกคลื่นไส้เป็นอย่างมาก ส่วนอาการที่พบได้ทั่วไปในการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 6 มีดังนี้
- อาการเหนื่อยล้า: ช่วงนี้คุณแม่อาจรู้สึกเหนื่อยและหมดเรี่ยวแรงเพราะร่างกายของคุณแม่กำลังปรับตัวให้เข้ากับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอยู่ ดังนั้น ถ้ารู้สึกหมดแรง เราก็ขอแนะนำให้คุณแม่พักผ่อนเพิ่มสักนิด
- อาการคลื่นไส้: ที่จริงแล้วอาการแพ้ท้องสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ยิ่งไปกว่านั้น ว่าที่คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ลูกแฝด ในช่วง 6 สัปดาห์นี้ จะมีอาการคลื่นไส้รุนแรงกว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ทั่วไป จึงเป็นความคิดที่ดีที่คุณแม่จะหาอาหารหรือขนมไว้ทานเล่นอยู่ตลอด เพื่อป้องกันไม่ให้ท้องว่าง เนื่องจากการท้องว่างจะทำให้คุณแม่รู้สึกคลื่นไส้อาเจียนได้
- อาการเจ็บคัดเต้านม: ช่วงนี้ว่าที่คุณแม่อาจเริ่มมีอาการเจ็บเต้านมเนื่องจากการไหลเวียนของเลือดเปลี่ยนไปเลี้ยงที่เต้านมมากขึ้น และเชื่อไหมคะว่าร่างกายของคุณแม่กำลังเริ่มเตรียมพร้อมสำหรับการให้นมลูกน้อยแล้ว! แม้นี่จะเพิ่งเป็นสัปดาห์ที่ 6 ของการตั้งครรภ์ก็ตาม
- ปัสสาวะบ่อยครั้ง: ถ้าคุณแม่เริ่มสังเกตุเห็นว่าตนเองปัสสาวะบ่อยขึ้นก็ไม่ต้องแปลกใจไป เพราะนี่เป็นผลจากฮอร์โมนตั้งครรภ์ หรือ hCG (Human Chorionic Gonadotropin) ที่ทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงบริเวณอุ้งเชิงกรานมากเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม การเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้นอาจเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าคุณแม่มีอาการปวดขณะปัสสาวะ หรือปัสสาวะติดขัด ก็ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพราะนั่นคือสัญญาณของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (UTI) ทีมีความเสี่ยงสูงในคุณแม่อายุครรภ์ 6 สัปดาห์
- ท้องอืดมีแก๊สในกระเพาะอาหาร: โปรเจสเตอโรนเป็นฮอร์โมนตัวการที่จะทำให้ท้องไส้ของคุณแม่ปั่นป่วน เราขอแนะนำให้คุณแม่ดื่มน้ำเยอะ ๆ และรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เพื่อหลีกเลี่ยงอาการท้องผูกที่เป็นสาเหตุทำให้ท้องอืด
- อารมณ์แปรปรวน: ใช่ค่ะ! การที่คุณแม่มีอารมณ์เหวี่ยงวีนขั้นสุดก็มาจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง บวกกับอาการเหนื่อยล้าและการแปรปรวนของระดับน้ำตาลในเลือด ดังนั้น คุณแม่ควรพักผ่อนให้มากและรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพเพื่อช่วยปรับให้อารมณ์ของคุณแม่ดีขึ้น
-
เป็นตะคริวและมีเลือดออกกะปริบกะปรอย: อาการเหล่านี้อาจฟังดูน่ากลัวใช่ไหมคะ แต่ที่จริงแล้วทั้งสองอย่างนี้เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปในคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์ เราเข้าใจดีว่าอาการเหล่านี้ทำให้คุณแม่กังวลว่าจะนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือการแท้งบุตรได้ ดังนั้น ถ้าคุณแม่มีอาการปวดท้องน้อยรุนแรง (ปวดรุงแรงมากกว่าปวดท้องประจำเดือนทั่วไป) หรือมีเลือดออกมาปริมาณมาก (มากกว่าเลือดประจำเดือน) ก็ควรไปพบแพทย์ทันที
ท้องของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์
แม้จะเป็นเรื่องปกติที่ท้องของคุณแม่จะป่องขึ้นในสัปดาห์ที่ 6 ของการตั้งครรภ์ แต่เมื่อดูจากภายนอก ก็ยังดูไม่ออกว่าคุณแม่กำลังตั้งครรภ์อยู่ อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวน้อยที่ตอนนี้มีขนาดเท่าเม็ดถั่วก็จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ภายในช่องท้องของคุณแม่ได้ในเร็ววันนี้ ดังนั้น ถ้าคุณแม่ยังไม่พร้อมบอกข่าวดีนี้ให้คนอื่น ๆ รู้ คุณแม่ก็ยังพอมีเวลารักษาความลับนี้ต่อไปได้อีกสักพัก และแน่นอนว่าในสัปดาห์ที่ 6 ของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์น้องแฝด คุณแม่จะมีขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้นเร็วกว่าว่าที่คุณแม่คนอื่น ๆ
การอัลตราซาวน์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 6 สัปดาห์
ถ้าคุณแม่ไปพบคุณหมอเมื่อมีอายุครรภ์ได้ 6 สัปดาห์แล้ว คุณหมออาจขอให้ฝากครรภ์และเริ่มตรวจในทันที แต่ก็เป็นไปได้ที่คุณหมออาจให้คุณแม่รอไปก่อนสัก 2-3 สัปดาห์ ทั้งนี้อายุครรภ์ที่เหมาะสมกับการเริ่มตรวจจะอยู่ที่ 8-9 สัปดาห์ ดังนั้น คุณแม่อาจไม่ต้องได้รับการตรวจอัลตราซาวด์ หากคุณแม่ไม่ได้ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งเราเข้าใจว่าคุณแม่ทุกท่านรอคอยโมเมนต์ที่จะได้เห็นเจ้าตัวน้อยครั้งแรกอย่างใจจดใจจ่อ!
ในขณะเดียวกัน คุณแม่ๆทั้งหลาย อาจจะสงสัยว่า 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดอะไรขึ้นภายในครรภ์ที่มีเจ้าทารกน้อยอยู่ แน่นอนว่าส่วนสำคัญของพัฒนาการทารกน้อยในครรภ์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ระบบการไหลเวียนเลือดของทารกน้อย มีความซับซ้อนและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทารกน้อยอาจเริ่มมีกระดิกมือและเท้าราวกับกำลังพายเรือยังไงอย่างงั้นเลย เนื่องจากการพัฒนาที่สมบูรณ์แล้ว จะเริ่มเห็นจมูก ตา หู คาง และแก้มออกมาให้เห็นบ้างแล้ว ซึ่งน่ารักน่าชังมากๆด้วยเช่นกัน
หากคุณแม่ในช่วงอายุครรภ์ 6 สัปดาห์ที่ได้ทำการตรวจอัลตร้าซาวด์แล้ว แพทย์อาจสามารถมองเห็นตัวอ่อนในครรภ์หรืออาจพบการเต้นของหัวใจร่วมด้วย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าคุณแม่มีตัวอ่อนที่กำลังมีพัฒนาการอยู่ในนั้น อย่างไรก็ตามหากแพทย์มองไม่เห็นตัวอ่อนทารกในครรภ์หรือการเต้นของหัวใจ ไม่ต้องกังวลไปนะคะ อาจจะไม่อันตรายอย่างที่คิด ซึ่งแพทย์จะทำการนัดหมายเพื่อกลับมารับการตรวจอัลตร้าซาวด์อีกครั้งในสองสามวันหรืออีกหนึ่งสัปดาห์ถัดไป
และแน่นอนว่า หากเป็นคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ลูกแฝดในช่วง 6 สัปดาห์แรก คุณแม่จะสามารถเห็นถุงตั้งครรภ์หรือถุงไข่แดงที่แตกต่างกันสองถุงในการอัลตราซาวนด์นี้
เมื่อคุณแม่ต้องตรวจครรภ์ครั้งแรกและกำลังรอนัดคุณหมออยู่ คุณแม่อาจมีคำถามเป็นล้านคำถามอยู่ในหัว แนะนำให้ลองจดลงสมุด เมื่อถึงเวลาก็ถามคุณหมอได้เลย
รายการตรวจสอบสำหรับการตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์
เรื่องที่ต้องทำในสัปดาห์นี้:
- เตรียมความพร้อมสำหรับการนัดพบคุณหมอครั้งแรก
- เตรืยมความพร้อมเรื่องอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงในระหว่างตั้งครรภ์
- ตรวจวัดอัตราการเต้นของชีพจร