ตั้งครรภสัปดาห์ที่ 5
29 Oct , 2020

ตั้งครรภสัปดาห์ที่ 5

ยินดีต้อนรับคุณแม่เข้าสู่ชมรมคุณแม่ตั้งครรภ์! ในช่วง 5 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์นี้ถือเป็นเรื่องปกติที่คุณแม่จะเพิ่งรู้ตัวว่ากำลังตั้งครรภ์ เพราะจะเริ่มสังเกตได้ว่าประจำเดือนไม่มาจนคุณแม่นึกเอะใจและไปตรวจหาสาเหตุ รวมไปถึงอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากระดับฮอร์โมนที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาการเจ็บหน้าอก คลื่นไส้ และอ่อนเพลีย โดยฮอร์โมนเหล่านี้บางตัวนี่เองที่ทำให้ผลตรวจครรภ์ของคุณแม่ออกมาเป็นบวก เอาล่ะค่ะ แม้ชมรมของเราอาจฟังดูไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่ แต่คุณแม่จะรู้สึกยินดีในที่สุดเมื่อเข้ามาเป็นสมาชิกกับเรา

ทารกในครรภ์อายุ 5 สัปดาห์มีขนาดตัวเท่าใด

ในช่วงสัปดาห์ที่ 5 ของการตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์จะมีขนาดเท่ากับเมล็ดแอปเปิ้ล ซึ่งแน่นอนว่าในระยะนี้เราสามารถวัดขนาดของตัวอ่อนได้แล้ว แม้จะมีขนาดจากหัวถึงก้นเพียง 0.13 นิ้วเท่านั้น แต่เบบี๋ก็พร้อมแล้วที่จะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอันที่จริงเพียงสัปดาห์หน้าเท่านั้น ทารกก็จะเติบโตขึ้นถึง 2 เท่าเลยที่เดียว รีบโตขึ้นเร็ว ๆ นะ เจ้าตัวเล็ก!

ตั้งครรภ์ 5 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน

ในช่วงอายุครรภ์ 5 สัปดาห์ คุณแม่กำลังก้าวเข้าสู่เดือนที่สองของการตั้งครรภ์ ใช่แล้ว! แม้ว่าคุณแม่เพิ่งรู้ตัวว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่ แต่จริง ๆ แล้วการตั้งครรภ์ของคุณแม่ได้ตั้งผ่านไปแล้วหนึ่งเดือน ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะว่าคุณหมอส่วนใหญ่จะเริ่มนับอายุครรภ์ตั้งแต่วันที่หมดประจำเดือนวันแรก ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าการตั้งครรภ์ใช้เวลานาน 9 เดือน แต่ความเป็นจริงแล้วการตั้งครรภ์ใช้เวลากว่า 40 สัปดาห์ และถ้าเราให้ 4 สัปดาห์นานเท่ากับหนึ่งเดือน นั่นหมายความว่าคุณแม่จะต้องอุ้มท้องนานถึง 10 เดือนเลยทีเดียว แถมบางเดือนก็มี 5 สัปดาห์อีกด้วย ดังนั้นคุณหมอหลายท่านจึงหลีกเลี่ยงที่จะติดตามการตั้งครรภ์เป็นรายเดือน แต่เลือกที่จะนับความคืบหน้าเป็นสัปดาห์มากกว่า

อาการเมื่อตั้งครรภ์ได้ 5 สัปดาห์

 อาการที่คุณแม่จะเริ่มรู้สึกได้เมื่อมีอายุครรภ์ 5 สัปดาห์จะเป็นแค่เพียงช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่จะต้องเผชิญเท่านั้น แต่ว่าที่คุณแม่หลาย ๆ คนก็บอกว่าช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์คือช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด ดังนั้นคุณแม่ก็จะไม่ต้องกลัวการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในเดือนอื่น ๆ อีกต่อไป ในช่วงไตรมาสแรกนี้ก็ขอให้คุณแม่คิดเสียว่าจะได้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากสุด ๆ ไปตั้งแต่ช่วงต้น ซึ่งในขณะเดียวกันนั้น คุณแม่ก็ต้องดูแลตัวเองด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และลองหาวิธีที่จะทำให้คุณแม่รู้สึกดีขึ้นในช่วงของการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ถ้าคุณแม่สงสัยว่าร่างกายจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างในช่วง 5 สัปดาห์แรกนี้ เรารวบรวมอาการมาให้แล้ว ไปดูกันเลยค่ะ

  • อาการเจ็บคัดเต้านม: แม้ว่าที่คุณแม่หลายท่านจะเป็นกังวลมากกับการแพ้ท้อง แต่การเจ็บคัดเต้านมก็เป็นหนึ่งในอาการที่พบได้ทั่วไปในคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 5 สัปดาห์เช่นกัน
  • อาการแพ้ท้อง: คงเป็นไปได้ยากที่จะให้คำนิยามสำหรับอาการแพ้ท้อง เพราะคุณแม่แต่ละท่านก็มีอาการที่ต่างกันออกไป ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจรู้สึกคลื่นไส้ได้ตลอดเวลา และที่แย่ไปกว่านั้นคือคุณแม่บางท่านอาจรู้สึกไม่สบายตลอดทั้งวัน มิหนำซ้ำ คุณแม่ที่ท้องลูกแฝดก็อาจมีอาการแพ้ท้องที่รุนแรงมากกว่าอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ได้มีการทดลองใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อหาวิธีจัดการกับอาการเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ หลายมื้อ รับประทานวิตามิน B6 ยาแคปซูลขิง ยาอมลดอาการคลื่นไส้ หรือสายรัดข้อมือลดอาการวิงเวียนและอาเจียน
  • อาการเหนื่อยล้า: ในช่วงอายุครรภ์ 5 สัปดาห์นี้ ถือเป็นเรื่องปกติที่คุณแม่จะรู้สึกอยากงีบหลับ แม้จะอยู่ระหว่างการประชุม ระหว่างอาหารมื้อค้ำ หรือแทบจะตลอดเวลา นั่นก็เพราะว่าคุณแม่กำลังเหนื่อยล้าอยู่กับการตั้งครรภ์นั่นเอง ซึ่งคุณแม่ก็ไม่สามารถทำอะไรกับอาการเหล่านี้ได้เลย เว้นแต่จะหาเวลาพักผ่อนให้มากขึ้น ออกกำลังกายเล็กน้อย และอย่าปล่อยให้ท้องว่าง ควรหาอะไรรับประทานทุก 2-3 ชั่วโมง
  • ปัสสาวะบ่อยครั้ง: คุณแม่อาจจะเริ่มสังเกตุเห็นว่าตัวเองปวดฉี่บ่อยในระยะแรกของการตั้งครรภ์ นั่นก็เพราะว่าในช่วงสัปดาห์ที่ 5 ของการตั้งครรภ์นี้ ไตของคุณแม่เริ่มที่จะขยายตัวนั่นเอง!
  • เป็นตะคริว: อาการของตะคริวที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 4 หรือ 5 นี้ เป็นสัญญาณบอกว่าตัวอ่อนกำลังฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูกอย่างสมบูรณ์ หรืออาจเป็นสัญญาณของมดลูกที่กำลังขยายตัว รวมถึงการยืดขึ้นของเส้นเอ็นด้วย แต่ถ้าหากคุณแม่เป็นตะคริวและมีอาการเจ็บปวดรุนแรงในช่วงอายุครรภ์ 5 สัปดาห์นี้ ให้ปรึกษาคุณหมอทันทีเพื่อตรวจให้มั่นใจว่าการตั้งครรภ์ไม่มีปัญหาใด ๆ
  • เลือดออกทางช่องคลอด: การมีเลือดออกจากช่องคลอดในช่วงอายุครรภ์ 5 สัปดาห์ อาจฟังดูน่ากลัวใช่มั้ยคะ แต่การที่มีเลือดติดออกมาเพียงเล็กน้อยบนกางเกงชั้นใน สามารถเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการฝังตัวของไข่ในผนังมดลูกได้ นอกจากนี้ หลังการมีเพศสัมพันธ์ คุณแม่ก็อาจมีเลือดออกมาได้เล็กน้อยเช่นกัน เพราะในระยะนี้ ปากมดลูกจะมีความเซนซิทีฟมากกว่าปกติ อาการทั้งหมดนี้ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่มีอาการนอกเหนือจากนี้ หรือมีเลือดออกมากผิดปกติ หรือแม้แต่วิตกกังวล ก็ควรปรึกษาคุณหมอโดยทันที

ว่าที่คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 5 สัปดาห์บางท่านอาจจะไม่มีอาการเหล่านี้เลย หรืออาจเป็น ๆ หาย ๆ แต่ก็อย่ากังวลไปเลย การที่คุณแม่ไม่มีอาการเจ็บป่วยเลย ไม่ได้หมายความว่าการตั้งครรภ์มีความผิดปกติ กลับกันนั่นหมายความว่าคุณแม่โชคดีต่างหาก!

ท้องของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ 5 สัปดาห์

ในช่วงอายุครรภ์ 5 สัปดาห์นี้ หน้าท้องของคุณแม่อาจดูไม่เปลี่ยนแปลง หรืออาจจะป่องขึ้นเล็กน้อย หรือรู้สึกเหมือนน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน ก็มีโอกาสที่น้ำหนักตัวจะลดลงจนคุณแม่กังวล และรู้สึกป่วยมาก ๆ จนกินอะไรไม่ลง ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ ถือว่าเป็นเรื่องปกติ คุณแม่สบายใจได้เลย อย่างไรก็ตาม การตั้งครรภ์ของคุณแม่แต่ละคนก็แตกต่างกัน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายตลอดระยะการตั้งครรภ์ก็แตกต่างกันออกไป

คุณแม่อาจมีคำถามเกี่ยวกับน้ำหนักตัวที่ต้องเพิ่มขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ คำตอบสั้น ๆ คือ คุณแม่ยังไม่จำเป็นต้องกังวลกับมันมากเกินไป เพราะโดยทั่วไปคุณหมอแนะนำให้คุณแม่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อยในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ (ประมาณ 1 – 5 ปอนด์) ที่จะสิ้นสุดลงหลังจากสัปดาห์ที่ 13 ซึงเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องกังวลค่ะ

ส่วนคำตอบแบบยาวก็คือ คุณแม่จะต้องมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอยู่แล้วในระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องน้ำหนักนี้ แพทย์ที่คุณแม่ฝากครรภ์ด้วยจะให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคลไป เพราะคุณแม่ตั้งครรภ์แต่ละคนก็มีการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะของร่างกาย อย่างไรก็ตาม สมาคมสูตินรีแพทย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ The American College of Obstetricians and Gynecologists (ACOG) มีคำแนะนำให้ดังนี้

  • ถ้าคุณแม่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ (ค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI ต่ำกว่า 18.5): คุณแม่ควรมีหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 28 ถึง 40 ปอนด์ ตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์ ซึ่งในช่วงไตรมาสที่สองและสาม คุณแม่ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ปอนด์ต่อสัปดาห์
  • ถ้าคุณแม่มีน้ำหนักตัวตามมาตรฐาน (ค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI ระหว่าง 18.5 ถึง 24.9): คุณแม่ควรมีหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 25 ถึง 35 ปอนด์ ตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์ ซึ่งในช่วงไตรมาสที่สองและสาม คุณแม่ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณไม่เกิน 1 ปอนด์ต่อสัปดาห์
  • ถ้าคุณแม่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ (ค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI ระหว่าง 25 ถึง 29.9): คุณแม่ควรมีหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 15 ถึง 25 ปอนด์ ตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์ ซึ่งในช่วงไตรมาสที่สองและสาม คุณแม่ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 0.5 ปอนด์หรือมากกว่านิดหน่อย
  • ถ้าคุณแม่มีภาวะโรคอ้วน (ค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป): คุณแม่ควรมีหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 11 ถึง 20 ปอนด์ ตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์ ซึ่งในช่วงไตรมาสที่สองและสาม คุณแม่ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 0.5 ปอนด์ต่อสัปดาห์
  • คุณแม่ท้องแฝดที่มีอายุครรภ์ 5 สัปดาห์ (และมีค่า BMI ตามมาตรฐาน): แนะนำให้คุณแม่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 37 ถึง 54 ปอนด์ ตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์ ซึ่งใน ครึ่งแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรเพิ่มน้ำหนักประมาณ 1 ปอนด์ต่อสัปดาห์ ส่วนในครึ่งหลัง คุณแม่สามารถมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้อีกนิดหน่อยจาก 1 ปอนด์ต่อสัปดาห์

คุณแม่ชักจะสงสัยแล้วใช่ไหมคะว่ากำลังตั้งครรภ์ลูกแฝดอยู่หรือเปล่า? ในระยะนี้ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์ลูกแฝดอยู่ คุณแม่อาจจะยังไม่รู้ตัวก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม คุณแม่ลูกแฝดต่างก็บอกว่าพวกเขามีอาการแพ้ท้องที่หนักเอามาก ๆ น้ำหนักตัวก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แถมอาการเหล่านี้ก็มาก่อนคุณแม่ที่ตั้งท้องลูกคนเดียวอีกด้วย

ในช่วงของการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 5 นี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะขอให้คนข้างกายของคุณแม่นวดให้ คุณแม่อาจจะไม่ได้มีพุงที่ใหญ่ แต่ในช่วงนี้เป็นช่วงที่ร่างกายของคุณแม่ทำงานหนักเพื่อให้เจ้าตัวน้อยได้เติบโต ดังนั้นก็ไม่แปลกใช่ไหมล่ะคะ ที่คุณแม่จะต้องได้รับการดูแลปรนนิบัติที่อ่อนโยนเป็นพิเศษ

การอัลตราซาวน์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 5 สัปดาห์

ตัวอ่อนในสัปดาห์ที่ 5 นี้จะดูไม่เหมือนลูกอ๊อดอีกต่อไป เพราะเริ่มมีการพัฒนาของอวัยวะที่สำคัญอย่าง หัวใจ กระเพาะอาหาร ตับ และไต รวมถึงระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ระบบย่อยอาหาร ระบบไหลเวียนโลหิต และระบบประสาท

ถ้าคุณแม่ไม่เคยมีประวัติทางการแพทย์ที่อาจทำให้มีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์ได้ คุณแม่ก็ยังไม่จำเป็นต้องทำอัลตราซาวนด์ในช่วงอายุครรภ์ 5 สัปดาห์นี้ แต่สูตินรีแพทย์อาจนัดให้คุณแม่มาพบครั้งแรกในช่วงสัปดาห์ที่ 8 หรือ 9 ของการตั้งครรภ์ ดังนั้น คุณแม่ก็จะต้องรอคอยอย่างใจจดใจจ่อกันหน่อยล่ะค่ะ พวกเราเข้าใจคุณแม่ดี

ในการทำอัลตราซาวด์ครั้งแรก คุณหมอจะวัดไซส์เจ้าตัวจิ๋วตั้งแต่บริเวณหัวจนมาถึงก้น รวมถึงกำหนดวันคลอดตามขนาดตัวของทารก ซึ่งวันที่กำหนดนี้อาจทำให้อายุครรภ์ของคุณแม่เปลี่ยนแปลงจากที่เคยคาดการณ์เอาไว้ นอกจากนี้ คุณแม่จะต้องได้รับการตรวจเลือดและตรวจฉี่อีกหลายครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าทั้งคุณแม่และลูกน้อยยังปลอดภัยทั้งคู่ ดังนั้น ต่อให้คุณแม่จะตื่นเต้นแบบสุด ๆ ที่ได้เห็นหัวใจของเบบี๋เต้นตุ้บ ๆ แต่ก็อย่าลืมว่ายังเหลืออีก 2-3 สัปดาห์ที่คุณแม่จะต้องถูกตรวจเลือดและปัสสาวะจนกว่าจะมั่นใจว่าเจ้าตัวน้อยปลอดภัย

รายการตรวจสอบสาหรับการตั้งครรภ์ 5 สัปดาห์

เรื่องที่ต้องทำในสัปดาห์นี้:

  1. เริ่มวางแผนรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
  2. เริ่มทำบันทึกการตั้งครรภ์
  3. เริ่มวางแผนการออมเงินเพื่อลูกน้อย

Processing...

"" เพิ่มไปที่ตะกร้าเรียบร้อยแล้วดูตะกร้า

เพิ่มไปที่รายการโปรดเรียบร้อยแล้ว