ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 8
29 Oct , 2020

ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 8

แม้ว่าในสัปดาห์ที่ 8 นี้ ท้องของคุณแม่อาจจะยังไม่ได้เห็นชัดมากนัก แต่คุณแม่จะเริ่มรู้สึกถึงการตั้งครรภ์ได้ชัดเจนในที่สุด เช่นเดียวกับผู้หญิงคนอื่น ๆ คุณแม่จะเริ่มไปฝากครรภ์ครั้งแรกในช่วงนี้เอง เมื่อพบแพทย์ อาจมีการทำอัลตราซาวนด์เพื่อประเมินอายุครรภ์ คุณแม่อาจได้ยินหรือได้เห็นหัวใจที่เต้นอยู่ของลูกน้อย ดีมาก ๆ เลยใช่ไหมคะ

ทารกในครรภ์อายุ 8 สัปดาห์มีขนาดตัวเท่าใด

ในช่วงสัปดาห์ที่ 8 ทารกจะมีขนาดตัวเท่ากับผลราสป์เบอร์รี่ มีน้ำหนักราว .04 ออนซ์ และยาวประมาณ .63 นิ้ว ตอนนี้ลูกน้อยจะโตขึ้นประมาณหนึ่งมิลลิเมตรในแต่ละวัน

ตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน

อายุครรภ์ 8 สัปดาห์ เท่ากับสองเดือนพอดีค่ะ แม้ว่าคุณหมอจะติดตามการตั้งครรภ์เป็นรายสัปดาห์มากกว่ารายเดือนก็ตาม

อาการเมื่อตั้งครรภ์ได้ 8 สัปดาห์

ได้กลิ่นอะไรเหม็น ๆ ไหมคะ อาจจะเป็นทุกสิ่งและทุกอย่างเลย ฮอร์โมนของคุณแม่ปั่นป่วนเอามาก ๆ ในช่วงสัปดาห์ที่ 8 นี้ ทำให้คุณแม่จมูกไวเหมือนซูเปอร์ฮีโร่และมีอาการท้องไส้แปรปรวน (นี่ยังไม่พูดถึงการฝันพิลึก ๆ ในช่วงท้องนะคะ!) เมื่อตั้งครรภ์ได้ 8 สัปดาห์ คุณแม่อาจมีอาการหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

  • คัดหน้าอก คุณแม่อาจจะรู้สึกหน้าอกขยาย หนักขึ้น และมีอาการคัดตึง นั่นเป็นเพราะต่อมที่ผลิตน้ำนมนั้นเริ่มขยายออก ถือเป็นเรื่องที่ดีนะคะ เพราะนั่นคือการเตรียมพร้อมสำหรับการให้นมลูกค่ะ
  • อ่อนเพลีย #เพลียจริงไม่ได้คิดไปเอง เมื่อเข้าสัปดาห์ที่ 8 คุณแม่จะอยากงีบมากกว่าเดิม เหตุผลก็เพราะว่า ขณะที่ฮอร์โมนมีความแปรปรวน ร่างกายของคนท้องต้องผลิตเลือดมากขึ้นเพื่อส่งไปเลี้ยงทารก ส่วนความดันและระดับน้ำตาลในเลือดของคุณแม่อาจจะลดต่ำลงกว่าก่อนตั้งครรภ์ ร่างกายในช่วงนี้ใช้พลังงานเยอะมากในการเลี้ยงตัวอ่อนเล็ก ๆ ในท้อง วิธีรับมือที่ดีที่สุดคือการนอนให้มากกว่าเดิม พูดอาจจะง่ายกว่าทำใช่ไหมคะ แต่เราอยากให้คุณแม่พยายามเข้านอนให้เร็วกว่าเดิมหรือหลับระหว่างวันสัก (หลาย ๆ) งีบในช่วงสุดสัปดาห์
  • แพ้ท้อง คุณแม่อาจมีอาการคลื่นไส้อย่างรุนแรงเมื่อตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 8 ซึ่งก็ยังคงเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนที่แปรปรวน คุณแม่ควรดื่มน้ำให้เพียงพอและเลือกอาหารว่างที่ดีต่อสุขภาพ หากมีอาการคลื่นไส้อย่างหนักในช่วงสัปดาห์ที่ 8 อย่าว่าแต่การเลือกอาหารให้ถูกหลักโภชนาการเลยค่ะ การรับประทานแล้วไม่อาเจียนออกมาถือเป็นเรื่องที่ยากมาก ดังนั้นให้คุณแม่เลือกอาหารที่พอจะรับประทานได้นะคะ คุณแม่บางคนอาจจะใช้ขิง วิตามิน B-6 และสายรัดข้อมือป้องกันการคลื่นไส้เพื่อช่วยบรรเทาอาการ อะไรที่ใช้ได้ถือว่าดีทั้งนั้นค่ะ
  • จมูกไวต่อกลิ่น อาการแปลก ๆ อย่างหนึ่งที่มาคู่กับการแพ้ท้องคือ ประสาทรับกลิ่นที่ไวมาก การได้กลิ่นเหม็นเพียงนิดเดียว แม้เป็นกลิ่นที่ไม่มีพิษมีภัยและไม่เคยสร้างปัญหาให้มาก่อน ก็อาจจะทำให้คุณแม่คลื่นไส้ได้ ดังนั้นจึงเป็นการดีที่สุดที่คุณแม่จะเลี่ยงกลิ่นที่ส่งผลต่อตัวเองนะคะ
  • อาการปวดท้อง เมื่อตั้งครรภ์ได้ 8 สัปดาห์ อาการปวดท้องถือเป็นเรื่องปกตินะคะ เพราะว่าเส้นเอ็นต่าง ๆ ในท้องนั้นมีการยืดออกเมื่อมดลูกของคุณแม่ขยายตัว ถ้าปวดมากหรือคุณแม่มีความกังวล ควรแจ้งให้คุณหมอทราบนะคะ
  • ท้องผูก คุณแม่ไม่ใช่คนเดียวที่มีปัญหาเรื่องการขับถ่ายนะคะ อาการท้องผูกช่วงตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้กับหญิงตั้งครรภ์กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ การรับมือทำได้โดยการดื่มน้ำเยอะ ๆ รับประทานผักผลไม้ที่มีกากใยสูง หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ท้องผูก เช่น ข้าวขาวและธัญพืชขัดสี นอกจากนี้ยังควรเดินเยอะ ๆ ด้วยนะคะ ถ้ายังมีปัญหาอยู่ คุณแม่อย่าลืมแจ้งคุณหมอเพื่อหาทางแก้ไขอื่น ๆ นะคะ
  • ฝันแปลก ๆ ถ้าคุณแม่ฝันประหลาด ๆ นั่นถือเป็นเรื่องธรรมดาในช่วงตั้งครรภ์นะคะ ยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดสำหรับความฝันเหล่านี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความคิดเรื่องใหม่ ๆ และความกังวลที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เพราะอย่าลืมว่าคุณแม่มีอะไรต้องคิดเยอะมาก จริงไหมคะ
  • มีเลือดออก หากกำลังตั้งครรภ์ได้ 8 สัปดาห์แล้วมีเลือดออก ก็คงจะเป็นเรื่องที่น่าตกใจพอสมควร เลือดอาจเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงการแท้งได้ แต่ก็ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เลือดออกในช่วงไตรมาสแรก รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ (เพราะว่าปากมดลูกของคุณแม่อาจมีความเปราะบางเป็นพิเศษในช่วงนี้) แจ้งคุณหมอให้รับทราบเอาไว้นะคะ เผื่อว่าคุณหมอจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้

หากตั้งครรภ์แฝดได้ 8 สัปดาห์ คุณแม่อาจมีอาการเพลียและคลื่นไส้มากกว่าปกติ เนื่องจากมีโอกาสที่คุณแม่จะมีฮอร์โมนตั้งครรภ์สูงเป็นพิเศษ เพราะมีความจำเป็นอย่างมากในการสร้างทารกถึงสองคน

อย่าลืมว่าถ้าคุณแม่รู้สึกคลื่นไส้และหิวหรือเหนื่อยกว่าปกติ ทั้งหมดล้วนเป็นเพราะการเติบโตอย่างรวดเร็วของลูกน้อย และเพราะร่างกายกำลังปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนต่าง ๆ เตือนตัวเองว่ามันคือสิ่งที่คุ้มค่ามาก (โดยเฉพาะเมื่อเข้าไตรมาสที่สอง ซึ่งคุณแม่ส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นและรู้สึกมีกำลังมากขึ้น)

และอย่าลืมว่าการที่คุณแม่ไม่มีอาการที่บ่งบอกว่ากำลังตั้งครรภ์ในช่วงสัปดาห์ที่ 8 นั้นก็เป็นเรื่องที่แสนจะธรรมดาเช่นกัน ดังนั้นอย่ากังวลถ้ายังไม่รู้สึกถึงความผิดปกติใด ๆ เพราะอีกไม่นานคุณแม่จะได้รู้สึกแน่ ๆ ค่ะ!

ท้องของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์

กำลังสงสัยอยู่หรือเปล่าคะว่าท้องของตัวเองมีขนาดที่เหมาะกับอายุครรภ์หรือเปล่า เมื่อท้องได้ 8 สัปดาห์ การที่ท้องยื่นออกมานิด ๆ เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าท้องยังไม่ป่องเลยก็ปกติเช่นกัน! นั่นเป็นเพราะว่าทั้งคุณแม่และทารกแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกัน คุณแม่ควรทราบไว้ว่าภายในท้องที่มีอายุครรภ์ 8 สัปดาห์นั้น มดลูกกำลังขยายตัว แต่จะใช้เวลาสักพักกว่าที่จะมองเห็นได้จากภายนอก ถ้าทารกในครรภ์อายุ 8 สัปดาห์เป็นแฝด ก็จะมองออกได้ง่ายกว่าคุณแม่ที่กำลังท้องลูกคนเดียวค่ะ

สูตินรีแพทย์จะเริ่มวัดขนาดท้องของคุณแม่ในไตรมาสที่สอง แต่สำหรับตอนนี้ ขนาดไม่ใช่เรื่องสำคัญนะคะ น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นในเกณฑ์ที่บ่งบอกถึงสุขภาพที่ดีในไตรมาสที่หนึ่งคือราว 1-5 ปอนด์ ดังนั้น เมื่อตั้งครรภ์ได้ 8 สัปดาห์ คุณแม่อาจจะน้ำหนักเพิ่มขึ้นมา 2-3 ปอนด์ ถ้ามีอาการแพ้ท้อง คุณแม่อาจจะน้ำหนักไม่ขึ้นเลย ซึ่งไม่เป็นอะไรนะคะ อาหารและนิสัยการรับประทานของคุณแม่อาจเปลี่ยนไปพอสมควรเพื่อรับมือกับอาการคลื่นไส้ และนั่นทำให้น้ำหนักลดหรือเพิ่มก็ได้ ไม่ต้องกังวลนะคะ คุณหมอจะคอยจับตาดูน้ำหนักของคุณแม่ในระยะยาว อย่าลืมแจ้งให้คุณหมอทราบหากมีความกังวลเกี่ยวกับน้ำหนักหรือขนาดท้องนะคะ

การอัลตราซาวนด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 8 สัปดาห์

ในช่วงนี้เองที่คุณแม่จะได้พบคุณหมอเพื่อฝากท้องเป็นครั้งแรก (อาจเรียกว่านัด 8 สัปดาห์) ซึ่งโอกาสนี้ คุณแม่อาจได้เห็นตัวอ่อนผ่านการอัลตราซาวนด์ ตื่นเต้นใช่ไหมคะ คุณแม่จะเซอร์ไพรส์ที่ได้เห็นแขนและขาของลูกแกว่งไปมาอยู่ในท้อง ตอนนี้อาจจะยังไม่รู้สึก แต่มันเกิดขึ้นจริงค่ะ!

เมื่ออายุครรภ์ได้ 8 สัปดาห์ นิ้วมือและนิ้วเท้าของทารกยังติดกันเล็กน้อย ส่วนหาง (มีหางจริง ๆ ค่ะ) หายไปแล้ว ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจคือ ตอนนี้ลูกเริ่มมีต่อมรับรสเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับมื้อแรกแล้วค่ะ

ในการนัดฝากครรภ์ครั้งแรก อาจจะมีการเก็บตัวอย่างเลือดของคุณแม่เพื่อตรวจด้านต่าง ๆ คุณหมอจะต้องการทราบกรุ๊ปเลือด และต้องการรู้ว่าเป็นกรุ๊ป Rh+ หรือ Rh- (เพราะถ้าเลือดคุณแม่เป็นลบ แต่เลือดของลูกเป็นบวก คุณแม่จะต้องรับยาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความไม่เข้ากันของเลือดค่ะ) จะมีการตรวจระดับของฮอร์โมนและเซลล์เม็ดเลือดขาวและแดงว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่ นอกจากนี้เลือดของคุณแม่ยังใช้เพื่อตรวจไวรัสตับอักเสบบี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และภูมิต้านทานบางอย่างอีกด้วย

คุณแม่อาจต้องตรวจแปปสเมียร์เพื่อหาการติดเชื้อและความผิดปกติต่าง ๆ เตรียมพร้อมเก็บตัวอย่างปัสสาวะด้วยนะคะ เพราะในการนัดครั้งนี้ และอาจจะทุก ๆ ครั้ง คุณแม่จะต้องตรวจหาสัญญาณของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและเฝ้าระวังโปรตีนในปัสสาวะถ้ามีความเสี่ยงภาวะครรภ์เป็นพิษ พยายามชินกับกับความปกติแบบใหม่นี้นะคะ!

รายการตรวจสอบสำหรับการตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์

เรื่องที่ต้องทำในสัปดาห์นี้:

  1. นัดวันฝากครรภ์สัปดาห์ที่ 12
  2. หาข้อมูลเรื่องการตรวจ NIPT (Non-Invasive Prenatal Testing) หรือการตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมทารกในครรภ์จากเลือดมารดา
  3. คิดวิธีการแจ้งข่าวดีแบบสนุก ๆ และสร้างสรรค์

Processing...

"" เพิ่มไปที่ตะกร้าเรียบร้อยแล้วดูตะกร้า

เพิ่มไปที่รายการโปรดเรียบร้อยแล้ว