ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 3
29 Oct , 2020

ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 3

หลังจากที่อสุจิเข้าไปผสมกับไข่เมื่อสัปดาห์ก่อน ก็เตรียมรับข่าวดีกับการเป็นว่าที่คุณแม่ได้เลย! การตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 3 เรียกได้ว่าเป็นระยะแรก ซึ่งคุณแม่อาจจะยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังมีอีกหนึ่งชีวิตอยู่ในท้อง เนื่องจากคุณแม่เพิ่งเริ่มตั้งครรภ์ได้เพียงไม่กี่วัน และยังไม่สามารถดูสัญญาณการตั้งครรภ์จากการที่ประจำเดือนไม่มาได้ ขณะที่มีอายุครรภ์เพียง 3 สัปดาห์

อาการเมื่อตั้งครรภ์ได้ 3 สัปดาห์

เมื่อตั้งครรภ์ได้ 3 สัปดาห์ คุณแม่อาจจะไม่มีอาการแสดงออกมาสักเท่าไร เพราะอาการในระยะเริ่มต้นมีสาเหตุมาจากฮอร์โมนที่เกิดขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ ซึ่งร่างกายคุณแม่อาจจะยังมีฮอร์โมนเหล่านั้นในปริมาณที่น้อยอยู่ (แต่ไม่ช้าก็เร็ว คุณแม่จะมีระดับฮอร์โมนสูงขึ้นแน่นอนค่ะ!) โดยสัญญาณของการตั้งท้องสัปดาห์ที่ 3 และสัปดาห์ต่อ ๆ มา ได้แก่:

  • มีเลือดล้างหน้าเด็ก เมื่อตัวอ่อนน้อย ๆ สามารถเคลื่อนที่ไปยังมดลูกได้สำเร็จ คุณแม่อาจจะมีเลือดออกกะปริบกะปรอย เนื่องจากไข่ที่ได้รับการผสมแล้วได้ไปฝังตัวอยู่ในเยื่อบุโพรงมดลูก
  • รู้สึกคลื่นไส้ เมื่อคุณแม่เริ่มมีฮอร์โมน hCG (human chorionic gonadotropin) ก็จะมีความรู้สึกอึดอัดหรืออยากคลื่นไส้อย่างมากจนทำให้ต้องอาเจียนออกมา โดยอาการแพ้ท้องนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ไม่ว่าจะเช้า สาย บ่าย หรือค่ำ หากคุณแม่มีอาการข้างต้นเมื่อตั้งครรภ์ได้ 3 สัปดาห์ อาจเป็นไปได้ว่าอายุครรภ์ของคุณแม่นั้นมากกว่าที่คิดไว้ (หรือไม่แน่ คุณแม่อาจจะกำลังตั้งท้องลูกแฝดได้ 3 สัปดาห์แล้ว! เพราะคนที่กำลังจะเป็นคุณแม่ลูกแฝดมักจะมีระดับฮอร์โมนตั้งครรภ์สูงกว่าปกติ ซึ่งส่งผลให้มีอาการคลื่นไส้หนักยิ่งขึ้น)
  • หน้าอกมีการเปลี่ยนแปลง คุณแม่จะเริ่มรู้สึกเจ็บหน้าอก และหัวนมอาจมีสีเข้มขึ้น เนื่องจากร่างกายเริ่มเตรียมผลิตน้ำนม
  • ประจำเดือนไม่มา หากปกติแล้วคุณแม่มีระยะห่างของรอบเดือนน้อยกว่า 28 วัน คุณแม่อาจจะรู้ว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์ในช่วงปลายสัปดาห์ของระยะที่จะมีรอบเดือน แต่วิธีเดียวที่จะช่วยตอบข้อสงสัยได้อย่างถูกต้องก็คือการตรวจการตั้งครรภ์
  • ผลจากที่ตรวจครรภ์เป็นบวก คุณแม่สามารถเช็กเครื่องหมายบนช่องของที่ตรวจครรภ์ที่บ้านเพื่อดูความแม่นยำได้ก่อนประจำเดือนขาด ซึ่งส่วนใหญ่กว่า 99 เปอร์เซ็นต์นั้นให้ผลที่ถูกต้อง เมื่อคุณแม่ตรวจการตั้งครรภ์ในช่วงที่รอบเดือนขาด โดยที่ตรวจครรภ์บางยี่ห้อการันตีว่าสามารถตรวจฮอร์โมนการตั้งครรภ์ในปัสสาวะได้เร็วกว่านั้น (อย่างเช่น เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 3 สัปดาห์ 5 วัน หรือแม้แต่ 3 สัปดาห์ 4 วัน) จริง ๆ แล้วปริมาณฮอร์โมนการตั้งครรภ์ hCG ในร่างกายของคุณแม่อาจจะยังไม่มากพอที่จะตรวจพบได้ในทันที แต่ฮอร์โมนจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในทุก ๆ 48 ชั่วโมง หากตรวจแล้วได้ผลเป็นลบก็อย่าเพิ่งถอดใจไปนะคะ ให้ลองตรวจไปเรื่อย ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่ไม่ได้ตรวจการตั้งครรภ์เร็วเกินไป
  • ผลการตรวจเลือดการตั้งครรภ์เป็นบวก ในบางกรณี เช่น ผู้ที่เสี่ยงต่อการแท้งบุตร หรือการตั้งครรภ์นอกมดลูก คุณหมออาจจะนัดให้คุณแม่มาตรวจเลือด ซึ่งวิธีนี้สามารถตรวจจับฮอร์โมน hCG ได้ละเอียดกว่าการตรวจปัสสาวะ ทำให้คุณแม่อาจจะทราบว่าตัวเองกำลังตั้งท้องได้เร็วกว่าการใช้ที่ตรวจครรภ์

ท้องของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ 3 สัปดาห์

คุณแม่อาจจะรู้สึกตื่นเต้นที่เริ่มสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเกิดขึ้นกับร่างกายของตัวเอง แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ท้องของคุณแม่จะยังมีขนาดปกติ โดยรูปร่างของคนท้องส่วนใหญ่จะยังไม่เริ่มเปลี่ยนแปลงจนกว่าจะเข้าสู่ช่วงการตั้งครรภ์ประมาณสัปดาห์ที่ 12 หรือหลังจากนั้น แต่คุณแม่อาจจะรู้สึกว่ามีพุงป่องขึ้นเล็กน้อย ดังนั้น คุณแม่ยังมีเวลาให้เตรียมตัวเตรียมใจก่อนที่พุงน้อย ๆ จะค่อย ๆ ขยายใหญ่จนดูออกว่าเป็นคนท้องจริง ๆ

ก่อนที่คุณแม่จะเริ่มทานอาหารเผื่อลูกในท้อง ควรทราบก่อนว่าคุณหมอแนะนำให้คุณแม่เพิ่มน้ำหนักได้เพียง 1 - 5 ปอนด์เท่านั้นในช่วงไตรมาสแรก หรือ 13 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ดังนั้น การอุ้มท้องได้ 3 สัปดาห์ไม่ใช่ใบเบิกทางให้คุณแม่ทานอาหารตามใจปากนะคะ อันที่จริง คุณแม่ควรทานอาหารตามปกติ โดยเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีความหลากหลาย รวมถึงเสริมวิตามินเตรียมตั้งครรภ์ที่มีกรดโฟลิกอย่างน้อย 400 ไมโครกรัมทุกวัน นอกจากนี้ คุณหมอยังไม่แนะนำให้คุณแม่เพิ่มจำนวนแคลอรี่ต่อวันจนกว่าจะถึงช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ โดยเมื่อคุณแม่ท้องได้ 14 สัปดาห์ ก็จะต้องการพลังงาน (ที่มาจากอาหารที่มีประโยชน์) เพิ่มขึ้นประมาณ 300 แคลอรี่ต่อวัน

การอัลตราซาวน์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 3 สัปดาห์

ในที่สุดไข่ของคุณแม่ก็ได้รับการผสมแล้ว (เย่!) และกำลังเดินทางผ่านท่อนำไข่ โดยจะแบ่งเซลล์เป็นเซลล์ที่มีลักษณะเหมือนกันไปเรื่อย ๆ ก่อนที่จะเดินทางไปถึงมดลูกของคุณแม่

การอัลตราซาวน์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 3 สัปดาห์ อาจจะยังไม่สามารถมองเห็นอีกหนึ่งชีวิตในท้องที่กำลังจะกลายมาเป็นเจ้าตัวน้อยของคุณแม่ได้ เนื่องจากไข่ใบจิ๋วที่ได้รับการผสมแล้ว (หรือที่เรียกว่าตัวอ่อนระยะมอรูลา) มีขนาดเล็กกว่าเม็ดเกลือและกำลังเคลื่อนที่อยู่ แต่ในช่วงที่เริ่มตั้งครรภ์ได้ 4 สัปดาห์ คุณหมออาจจะสามารถสังเกตเห็นเยื่อบุโพรงมดลูกของคุณแม่หนามากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่บอกว่าตัวอ่อนน้อย ๆ ได้เดินทางไปถึงที่หมายของการฝังตัวตลอดการตั้งครรภ์ (ลองเดาดูสิคะ ว่าเป็นที่ไหน: คำตอบก็คือมดลูกของคุณแม่นั่นเองค่ะ)

รายการตรวจสอบสำหรับการตั้งครรภ์ 3 สัปดาห์

 เรื่องที่ต้องทำในสัปดาห์นี้:

  1. คำนวณวันกำหนดคลอด
  2. ตรวจการตั้งครรภ์ก่อนช่วงที่จะมีรอบเดือน
  3. เสริมวิตามินเพื่อการตั้งครรภ์ที่มีกรดโฟลิคทุกวัน
  4. ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก

Processing...

"" เพิ่มไปที่ตะกร้าเรียบร้อยแล้วดูตะกร้า

เพิ่มไปที่รายการโปรดเรียบร้อยแล้ว