ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 22
17 Nov , 2020

ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 22

ตอนนี้ในท้องของคุณแม่มีอะไรอยู่เต็มไปหมดเลยค่ะ! เมื่อตั้งครรภ์ได้ 22 สัปดาห์ ลูกที่เติบโตอย่างรวดเร็วกำลังครอบครองพื้นที่ภายในท้องของคุณแม่ นี่คือเหตุผลที่คุณแม่อาจจะหายใจไม่อิ่มเป็นครั้งคราวและรู้สึกปวดหลังอย่างมาก ขณะที่ลูกโตนั้น ลูกอาจทำให้ท้องของคุณแม่ขยายออกมาอย่างมาก (และรวดเร็ว) ในสัปดาห์ที่ 22 นี้ จนทำให้คุณแม่มีรอยแตก (ข้อนี้เสียใจด้วยจริง ๆ ค่ะ) และคุณแม่อาจเพิ่งค้นพบว่าตัวเอง “สะดือจุ่น”! ถึงแม้ว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อาจทำให้คุณแม่ไม่ค่อยชอบใจเท่าไหร่ แต่คุณแม่ก็น่าจะอยากเก็บภาพท้องตัวเองเอาไว้ด้วยฝีมือช่างภาพมืออาชีพ สัปดาห์ที่ 22 นี้เป็นเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นถ่ายภาพตอนท้องค่ะคุณแม่อาจจะอยากเก็บภาพในช่วงไตรมาสสามซึ่งเป็นช่วงที่ท้องโตมากขึ้นและกำลังสวยงาม แต่ก็อย่าสายเกินไปจนเสี่ยงที่คุณแม่จะคลอดก่อนที่จะทันนัดกับช่างภาพนะคะ

ทารกในครรภ์อายุ 22 สัปดาห์มีขนาดตัวเท่าใด

ในสัปดาห์ที่ 22 นี้ ลูกมีขนาดเท่าลูกมะพร้าวแล้วค่ะ! ขนาดโดยเฉลี่ยของทารกอายุ 22 สัปดาห์ในท้องมีความยาว 10.9 นิ้วจากกระหม่อมจนถึงส้นเท้า และหนัก 15.2 ออนซ์

ตั้งครรภ์ 22 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน

อืม...ตอนนี้เริ่มนับเดือนยากแล้วนะคะ คำถามคือ 22 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือนกันแน่ ตอนนี้คุณแม่ท้องได้ห้าเดือนแล้วค่ะ แม้ว่าคุณหมอจะติดตามการตั้งครรภ์เป็นรายสัปดาห์มากกว่ารายเดือนก็ตาม

อาการเมื่อตั้งครรภ์ได้ 22 สัปดาห์

อาการโดยทั่วไปของครรภ์อายุ 22 สัปดาห์ที่เกิดจากลูกในท้อง (หนึ่งคนหรือหลายคน) กินพื้นที่ในร่างกายของคุณแม่อย่างมาก จะประกอบไปด้วย

  • รอยแตก รอยแผลเป็นเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อผิวของคุณแม่ยืดขยายออกอย่างรวดเร็วจนทำให้ชั้นผิวหนังด้านล่างฉีกขาด สิ่งที่ไม่ค่อยดีเท่าไรคือรอยเหล่านี้จะไม่มีทางหายไปอย่างถาวร แต่สีของมันก็จะจางลงหลังคลอดและจะสังเกตเห็นได้น้อยลงค่ะ คุณแม่ควรลองผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสำหรับคนท้องดูด้วยนะค่ะ
  • สะดือจุ่น สะดือที่บุ๋มลงของคุณแม่อาจจะถูกดันออกมาจนกลายเป็นสะดือจุ่น นี่เป็นอีกอาการหนึ่งที่เกิดจากท้องที่ขยายออก คุณแม่อาจรู้สึกแปลกแปลกใช่ไหมคะ แต่สะดือจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมแน่นอน เรารับประกันค่ะ!
  • มีความต้องการทางเพศสูงขึ้น คุณแม่บางคนพบว่าตัวเองมีความต้องการทางเพศเพิ่มมากขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 22 นั่นเป็นเพราะฮอร์โมนกำลังรุนแรงอยู่ในช่วงนี้ค่ะ (หวังว่าจะเป็นเรื่องที่ดีนะคะ!)
  • ตกขาวเพิ่มขึ้น ที่ด้านล่างนั้นทำให้คุณแม่รู้สึกไม่ค่อยสบายตัวเท่าไรใช่ไหมคะ ไม่สนุกเลย แต่อย่ากังวลไปค่ะ มันเป็นเพียงผลของการไหลเวียนเลือดที่เพิ่มขึ้นในบริเวณนั้น นี่ยังเป็นเหตุผลหนึ่งที่คุณแม่บางคนไม่มีความรู้สึกต้องการทางเพศสักเท่าไหร่ในช่วงนี้ แต่เราคิดว่าคุณแม่น่าจะลองทำใจให้สบายดูนะคะ เราเชื่อว่าตัวคุณพ่อน่าจะไม่ได้รู้สึกแย่อะไรค่ะ
  • มือและเท้าบวม ในขณะที่ตั้งท้อง ในร่างกายของคุณแม่จะมีของเหลวเพิ่มขึ้น ดังนั้นอาการบวมเล็กน้อยเป็นเรื่องที่ปกติมากและจะหายไปทันทีที่ลูกเกิดออกมา แต่หากมีอาการบวมอย่างรุนแรงและรวดเร็ว นั่นคือเรื่องผิดปกติค่ะ และอาจเป็นสัญญาณของปัญหาในการตั้งครรภ์ที่อันตรายได้ ซึ่งก็คือภาวะครรภ์เป็นพิษ ดังนั้นจึงต้องแจ้งคุณหมอให้ทราบทันทีถ้าคุณแม่มีอาการบวมมากแบบเฉียบพลัน
  • ปวดหลัง หลังของคุณแม่มีอาการปวด เนื่องจากแรงกดที่เพิ่มขึ้นจากลูกในครรภ์และจากการแบกรับน้ำหนักโดยรวมของร่างกายที่มากขึ้น การประคบร้อน การนวดก่อนคลอด หรือการนอนโดยใช้หมอนช่วยพยุงจะสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้
  • ผมและขนยาวเร็ว นี่ถือเป็นอาการที่ดี ถ้าเส้นขนที่ยาวขึ้นคือผมบนศีรษะ แต่สำหรับเส้นขนในบริเวณอื่นนั้นต้องโทษฮอร์โมนเลยค่ะ (ใช้แหนบดึงออกได้นะคะถ้าต้องการ)
  • หายใจไม่อิ่ม ลูกเริ่มเบียดปอดมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้คุณแม่หายใจได้ลำบากเป็นครั้งคราว อย่าลืมนะคะว่าห้ามออกกำลังกายหนักเกินไป และเมื่อรู้สึกเวียนหัวให้พักทันที

ท้องของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ 22 สัปดาห์

โดยทั่วไปครรภ์อายุ 22 สัปดาห์จะมีขนาดประมาณ 20 ถึง 24 เซนติเมตรโดยวัดจากกระดูกหัวหน่าวขึ้นไปจนถึงยอดมดลูก นี่คือการวัดความสูงของยอดมดลูกค่ะ ถ้าคุณแม่ตั้งท้องได้ 22 สัปดาห์โดยอุ้มท้องลูกแฝด จะไม่มีการวัดนี้ขึ้นนะคะ เนื่องจากการท้องลูกแฝดนั้นมีความแตกต่างออกไปอย่างยิ่ง จึงไม่มี “ค่าปกติ” ที่แท้จริงค่ะ

ในสัปดาห์นี้คุณแม่อาจกังวลเรื่องน้ำหนักที่ต้องเพิ่มขึ้น สูตินรีแพทย์จะบอกว่าให้ทำน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ แต่สม่ำเสมอ ประมาณ 1 ปอนด์หรือมากน้อยกว่านั้นเล็กน้อยต่อสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับลักษณะร่างกายของคุณแม่ และการจะเป็นเช่นนั้นได้ หลายๆ คนแนะนำให้คุณแม่รับประทานอาหารเพิ่มขึ้น 300 แคลอรี่ต่อวัน อย่ากังวลเรื่องการนับแคลอรี่มากเกินไปนะคะ นี่เป็นเพียงคำแนะนำคร่าวๆ เฉยๆ ค่ะ

300 แคลอรี่ที่เพิ่มขึ้นต่อวันนั้นไม่ได้หมายความว่าคุณแม่ต้องรับประทานอาหารสามมื้อบวกของว่างหนึ่งหรือสองมื้อต่อวันเสมอไปนะคะ ที่จริงแล้วคุณแม่ควรจะพิจารณาว่าจะเปลี่ยนไปรับประทานห้าหรือหกมื้อเล็ก ๆ ต่อวันดีกว่าไหม วิธีนี้จะทำให้ควบคุมการรับประทานให้สมดุลได้ง่ายกว่า (เนื่องจาก...ยอมรับเถอะ ว่าเรามักจะเลือกกินของที่ดีต่อสุขภาพในมื้อหลัก แต่มื้อของว่างไม่เป็นแบบนั้น) นอกจากนั้น การรับประทานมื้อเล็ก ๆ บ่อย ๆ จะช่วยลดโอกาสที่ทำให้คุณแม่หมดพลังงาน รู้สึกแสบร้อนกลางอก อาหารไม่ย่อย และปัญหาอื่น ๆ ในช่วงสัปดาห์ที่ 22 นี้ด้วย ฟังดูดีเลยนะคะ!

การอัลตราซาวนด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 22 สัปดาห์

ตอนนี้ดวงตาและริมฝีปากของลูกพัฒนาขึ้นอย่างมาก ลักษณะเหมือนทารกแรกเกิดมากขึ้นทุกวันเลยค่ะ ลูกจะนอนหลับเป็นรอบ รอบละประมาณ 12 ถึง 14 ชั่วโมงต่อวัน (บอกใบ้ให้ว่าช่วงที่ลูกหลับคือช่วงที่คุณแม่จะไม่รู้สึกว่าลูกเตะนั่นเองค่ะ!)

ถ้าคุณแม่ยังไม่ได้อัลตราซาวนด์เมื่อถึงครึ่งทางของการตั้งครรภ์ สัปดาห์นี้จะต้องทำอย่างแน่นอนค่ะ การอัลตราซาวนด์ในช่วงสัปดาห์ที่ 18-22 นี้ จะทำให้คุณแม่มองเห็นอวัยวะสำคัญและร่างกายทั้งหมดของลูก และเป็นช่วงที่คุณแม่อาจจะต้องตรวจทางพันธุกรรมต่าง ๆ ที่ยังค้างอยู่ให้เสร็จสิ้น ทีนี้ก็สบายใจได้แล้วนะคะ หมดกังวลเสียที!

รายการตรวจสอบสำหรับการตั้งครรภ์ 22 สัปดาห์

เรื่องที่ต้องทำในสัปดาห์นี้

  1. หาช่างภาพเก่ง ๆ มาเก็บภาพตอนท้อง
  2. ตัดสินว่าจะเอาลูกเข้าเดย์แคร์หรือหาพี่เลี้ยงดี
  3. จัดตู้เสื้อผ้าสำหรับการเป็นคุณแม่ให้พร้อม

Processing...

"" เพิ่มไปที่ตะกร้าเรียบร้อยแล้วดูตะกร้า

เพิ่มไปที่รายการโปรดเรียบร้อยแล้ว