ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 27
20 Nov , 2020

ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 27

Cheers ! ยกแก้วสูง ๆ และโบกมือลาไตรมาสที่สองได้แล้วค่ะ! สัปดาห์หน้าคุณแม่จะเข้าสู่ไตรมาสที่สามอย่างเป็นทางการแล้ว

ในสัปดาห์ที่ 27 ลูกหายใจได้แล้ว (แต่หายใจเอาน้ำคร่ำเข้าไปนะคะไม่ใช่อากาศ แต่ก็ยังยอดเยี่ยมอยู่ดีใช่ไหมคะ) และยังแสดงถึงการทำงานของสมองอีกด้วย คุณแม่เองก็มีอะไรต้องคิดเยอะแยะเต็มไปหมดเช่นกัน ตั้งแต่การสงสัยว่าการคลอดลูกนั้นจะเป็นอย่างไร จนถึงเรื่องการตามหาหมอเด็กที่ดีที่สุดสำหรับลูก ขณะที่กำลังก้าวสู่ไตรมาสสาม เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับเรื่องที่ชวนให้เขินไว้นิดนึงนะคะ (เช่น ต้องฉี่ตลอดเวลา และอาจจะเป็นตอนที่คุณแม่ไม่ได้ตั้งใจจะฉี่ด้วยซ้ำ!) ทั้งหมดนั้นเป็นอาการของการตั้งครรภ์ในช่วงหลังและเกิดขึ้นแค่ชั่วคราวเท่านั้น ได้เวลามุ่งหน้าสู่ขั้นสุดท้ายกันแล้วนะคะ คุณแม่พร้อมหรือยัง?

ทารกในครรภ์อายุ 27 สัปดาห์มีขนาดตัวเท่าใด

ในสัปดาห์ที่ 27 นี้ ลูกมีขนาดเท่าหัวผักกาดแล้วค่ะ ความยาวเฉลี่ยของทารกวัย 27 สัปดาห์ในท้องแม่คือ 14.4 นิ้ว และหนัก 1.9 ออนซ์ ตอนนี้ลูกไม่ได้แค่ตัวใหญ่ขึ้นนะคะ ยังฉลาดขึ้นอีกด้วย

ตั้งครรภ์ 27 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน

ครรภ์อายุ 27 สัปดาห์เท่ากับท้องประมาณหกเดือนค่ะ ตอนนี้คุณแม่อยู่ในสัปดาห์สุดท้ายของไตรมาสสองแล้ว

อาการเมื่อตั้งครรภ์ได้ 27 สัปดาห์

อาการที่น่ารำคาญซึ่งคุณแม่พบเจอมาตลอดยังไม่ได้หายไปง่าย ๆ ค่ะ แต่อย่างน้อยคุณแม่ก็หาทางรับมือกับมันได้บ้างแล้วหรือบางทีคุณอาจจะชินไปเองแล้วก็ได้ อาการส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ 27 นี้ได้แก่

  • ตะคริว เหยียดขาบ่อย ๆ นะคะ การยืดเท้าก็สามารถช่วยได้ รวมถึงการดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อป้องกันอาการเจ็บเหล่านี้ด้วย
  • ปวดหลัง ค่อย ๆ ยืดเหยียดหลังของคุณแม่นะคะ มันสามารถช่วยได้ ลองหาหมอนใบใหญ่ ๆ มาช่วยพยุงตอนนอนด้วยนะคะ มันสามารถช่วยบรรเทาแรงกดตรงช่วงสะโพกและช่วยให้คุณแม่อยู่ในท่าทางที่สบายช่วงหลังได้ค่ะ คุณแม่ยังสามารถลองเล่นโยคะก่อนคลอดได้ด้วยค่ะ
  • ท้องผูก ถ้าคุณแม่ขับถ่ายไม่สะดวกและทำทุกอย่างที่ทำได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารที่มีไฟเบอร์สูง ดื่มน้ำเยอะ ๆ และเดินบ่อย ๆ ให้ลองปรึกษาคุณหมอเพื่อขออาหารเสริมที่มีไฟเบอร์หรือยาถ่ายที่ปลอดภัยดูนะคะ
  • ริดสีดวงทวาร การเบ่งเวลาเข้าห้องน้ำและแรงกดที่ลูกมีต่ออวัยวะในช่องท้องส่วนล่างสามารถทำให้เกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์นี้ได้ค่ะ
  • ผิว ผม และเล็บเปลี่ยนไป นี่เป็นหนึ่งในอาการที่ไม่คาดคิดซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ค่ะ ผิว ผม และเล็บของคุณแม่อาจจะหนาขึ้นหรือยาวเร็วขึ้น (เย้!) แต่ก็อาจจะเปราะง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน (โถ่)
  • ปัสสาวะเล็ด อาการนี้เกิดขึ้นเวลาคุณแม่จามค่ะ เนื่องจากลูกสร้างแรงกดมหาศาลต่อกระเพาะปัสสาวะของคุณแม่ และคุณแม่ก็แทบจะทำอะไรไม่ได้เลยด้วยซ้ำ นอกจากแวะฉี่บ่อย ๆ เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะมีที่ว่าง หรืออาจจะใส่แผ่นอนามัยเอาไว้ก็ได้ค่ะถ้าคุณแม่กังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

ผู้หญิงที่ท้องลูกแฝดได้ 27 สัปดาห์มีโอกาสสูงมากที่จะคลอดก่อนกำหนด ดังนั้นถ้าคุณแม่สังเกตเห็นอาการที่ผิดปกติ เช่น มีเลือดออก มีน้ำไหลออกมาจากช่องคลอด ปวดท้อง หรือมดลูกบีบตัวถี่ รีบแจ้งคุณหมอโดยด่วนค่ะ

ท้องของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ 27 สัปดาห์

น้ำหนักที่เหมาะสมในสัปดาห์ที่ 27 นี้คือ 15 ถึง 30 ปอนด์ค่ะ ถ้าคุณแม่น้ำหนักขึ้นเร็วกว่าที่แนะนำ อาจจะ 2 ปอนด์ต่อสัปดาห์หรือมากกว่านั้นเล็กน้อย คุณหมออาจบอกให้คุณแม่ทำน้ำหนักให้คงที่นะคะ ฟังดูยาก แต่คุณหมอจะสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการควบคุมน้ำหนักได้ค่ะ การรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์นั้นจะช่วยลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ทั้งหลาย รวมถึงการคลอดก่อนกำหนดด้วย และคุณแม่จะเข้าสู่ไตรมาสสามได้ง่ายขึ้นถ้าไม่ต้องแบกน้ำหนักตัวที่มากเกินไปค่ะ

ถ้าคุณแม่ตั้งท้องลูกแฝดได้ 27 สัปดาห์ คุณแม่จะมีน้ำหนักขึ้นมามากกว่านั้น กล่าวคือระหว่าง 29 ถึง 44 ปอนด์ อย่างไรก็ตาม ลูกแฝดในท้องจะโตและมีพัฒนาการในระดับเดียวกับลูกคนเดียวค่ะ แม้ว่าอาจจะมีลูกคนหนึ่งที่ตัวเล็กกว่าอีกคนเล็กน้อย

คุณแม่อาจรู้สึกถึงแรงเตะของลูกได้บ่อยมาก และจะยิ่งบ่อยมากกว่าเป็นสองเท่าถ้าท้องลูกแฝด และจะรู้สึกถึงการสะอึกเบา ๆ ด้วย ความรู้สึกนั้นอาจจะเหมือนการกระตุกเบา ๆ ค่ะ สำหรับตอนนี้ทำใจให้สบายและมีความสุขกับการเตะ การทักทายจากลูกในท้องนะคะ ในสัปดาห์หน้า คุณแม่ควรจะเริ่มนับครั้งลูกดิ้นได้แล้วเพื่อให้แน่ใจว่าลูกในท้องมีความปกติดีในแต่ละวัน

การอัลตราซาวนด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 27 สัปดาห์

ในท้องอายุ 27 สัปดาห์นั้น ลูกกำลังฝึกหายใจเข้าและหายใจออกด้วยปอดที่พัฒนาอย่างรวดเร็วค่ะ ตอนนี้ลูกได้แสดงถึงกิจกรรมทางสมองอย่างเป็นทางการแล้วด้วย! ตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป สมองของลูกจะมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ตัวอ่อนอายุ 27 สัปดาห์มีความเฉลียวฉลาดมากขึ้นกว่าเดิม

ถ้าตอนนี้การตั้งครรภ์ของคุณแม่ยังเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย คุณแม่ก็จะไม่ต้องพบคุณหมอและไม่ได้เอาอัลตราซาวนด์นะคะ ทว่าตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป คุณแม่จะได้พบคุณหมอสองครั้งต่อเดือน หรือทุกสองสัปดาห์ อาจจะลองหาหนังสือไปอ่านหรือโหลดแอพอะไรดี ๆ มาใช้เพื่อให้การนั่งรอไม่น่าเบื่อเกินไปก็ได้นะคะ

รายการตรวจสอบสำหรับการตั้งครรภ์ 27 สัปดาห์

เรื่องที่ต้องทำในสัปดาห์นี้:

  1. เลือกกุมารแพทย์ที่ตรงความต้องการ
  2. ตัดสินใจว่าจะให้ใครเข้าไปในห้องคลอด
  3. วางแผนการคลอดลูก

Processing...

"" เพิ่มไปที่ตะกร้าเรียบร้อยแล้วดูตะกร้า

เพิ่มไปที่รายการโปรดเรียบร้อยแล้ว