ตั้ง‌ครรภ์‌สัปดาห์‌ที่‌ ‌24‌
20 Nov , 2020

ตั้ง‌ครรภ์‌สัปดาห์‌ที่‌ ‌24‌

คิดซะว่านี่เป็นการทดลองรับบทคุณแม่เต็มตัว ลูกสบายดีทุกอย่าง ส่วนคุณแม่นั้น...วุ่นวายอยู่ตลอดเวลา ทารกในครรภ์วัย 24 สัปดาห์กำลังเตรียมพร้อมสำหรับการเอาชีวิตรอด (และแข็งแรงสุดๆ!) ในโลกภายนอก ในขณะที่ตัวคุณแม่อาจไม่ค่อยสบายตัวเท่าไรนักจากการตั้งครรภ์ในช่วงหลัง ทั้งอาการ ตะคริว ปวดหลัง และเท้าบวม อดทนไว้นะคะ ว่าที่คุณแม่!

ทารกในครรภ์อายุ 24 สัปดาห์มีขนาดตัวเท่าใด

ในสัปดาห์ที่ 24 นี้ ลูกมีขนาดเท่าผลแคนตาลูปแล้วค่ะ ความยาวประมาณ 11.8 นิ้วและหนักประมาณ 1.3 ปอนด์

ตั้งครรภ์ 24 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน

ครรภ์อายุ 24 สัปดาห์เท่ากับหกเดือนค่ะ

อาการเมื่อตั้งครรภ์ได้ 24 สัปดาห์

อาการ (ที่แสนจะกวนใจ) ในสัปดาห์ที่ 24 มีลักษณะดังนี้ค่ะ

  • เท้าและข้อเท้าบวม หากเท้าของคุณแม่มีอาการบวม เวลานั่งให้ยกเท้าขึ้นสูง การลุกขึ้นเดินบ่อย ๆ ก็สามารถช่วยได้เช่นกันค่ะ อาการบวมเล็กน้อยนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่หากมีอาการบวมที่ใบหน้า มือบวมอย่างรุนแรงหรือมีอาการบวมไม่เท่ากัน (เช่น ขาข้างใดข้างหนึ่ง) หรือเกิดอาการบวมขึ้นอย่างเฉียบพลัน ทั้งหมดนั้นเป็นอาการผิดปกตินะคะ ความจริงแล้วนั่นคือสัญญาณเตือนของภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์ที่ก่อให้เกิดอันตรายได้ ควรรีบรายงานให้หมอสูติฯของคุณแม่ทราบถ้ามีอาการบวมที่ส่อถึงความผิดปกติค่ะ
  • ตะคริว ขาที่หดเกร็ง เจ็บ และกระตุกนั้น อาจเป็นสัญญาณของการขาดน้ำ คุณแม่ต้องแน่ใจว่าตัวเองดื่มน้ำมากพอ พยายามยืดขาบ่อย ๆ และเดินเยอะ ๆ แจ้งให้คุณหมอทราบหากคุณแม่มีอาการตะคริว โดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีปัญหาอะไรค่ะ แต่บางครั้งตะคริวก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาอื่นได้ เช่น การขาดสารอาหาร ดังนั้นคุณแม่จึงควรสังเกตตัวเองอย่างสม่ำเสมอนะคะ
  • ปวดหลัง ใช่แล้วค่ะ คุณแม่จะยังคงมีอาการปวดหลังอยู่ และอาจจะแย่ลงด้วย นั่นก็เพราะลูกมีขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้น ดังนั้นมดลูกของคุณแม่จึงขยายไปกดทับกระดูกสันหลัง ทำให้มันงอและตึงมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้กล้ามเนื้อหลังของคุณแม่ยังต้องทำงานหนักขึ้นในการแบกรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นด้วย แจ้งคุณหมอให้ทราบนะคะถ้าหากมีอาการปวดที่รุนแรงผิดปกติ (เป็นที่เรียกกันว่าอาการไซอาติก้า ซึ่งเป็นอาการปวดจากการระคายเคืองของเส้นประเสาทไซอาติก ส่วนใหญ่จะปวดบริเวณหลัง เอว ก้น หรือขาเพียงซีกใดซึกหนึ่ง)
  • เส้นดำกลางท้อง คือเส้นสีเข้มที่พาดตรงกลางท้องของคุณแม่นั่นเองค่ะ เกิดจากอิทธิพลของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ เส้นนี้ควรจะจางลงภายในสองสามอาทิตย์หรืออาจจะหลายเดือนหลังคลอด
  • รอยแตกลาย “ลายพาดกลอน”เหล่านี้จะยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากผิวของคุณแม่ยังคงยืดขยายออก หากคุณแม่ตั้งท้องลูกแฝดได้ 24 สัปดาห์ คุณแม่ก็จะยิ่งมีโอกาสมีรอยแตกลายค่ะ คุณแม่ควรลองผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสำหรับคนท้องนะค่ะ

ท้องของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ 24 สัปดาห์

ในสัปดาห์ที่ 24 นี้คุณแม่อาจจะรู้สึกว่าลูกเริ่มเตะมาได้อย่างน้อยสองถึงสามสัปดาห์แล้ว แต่ตอนนี้แรงเตะนั้นเริ่มหนักขึ้นเรื่อย ๆ อันที่จริงแล้ว ในช่วงนี้คุณพ่อหรือคนอื่นที่สัมผัสท้องของคุณแม่ก็อาจจะเริ่มรู้สึกได้แล้วเช่นกันค่ะ

ช่วงน้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นในการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 24 นี้คือ 14-16 ปอนด์สำหรับคุณแม่ที่มีดัชนีมวลกายปกติ แต่ถ้าน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นกว่านั้นเล็กน้อย ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เฉพาะกรณีที่น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเฉียบพลันเท่านั้นที่น่าเป็นห่วง แต่สำหรับการตั้งครรภ์แบบสุขภาพดีที่สุด คุณแม่ควรหาวิธีควบคุมน้ำหนักให้เพิ่มขึ้นอย่างเป็นปกติด้วยนะคะ

ทราบไหมคะว่า 24 นั้นเป็นเลขมหัศจรรย์สำหรับคุณแม่ลูกแฝด คุณหมอแนะนำว่าคุณแม่ลูกแฝดที่ตั้งครรภ์ได้ 24 สัปดาห์ ควรจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมา 24 ปอนด์แล้วเช่นกัน ซึ่งหากทำได้ดังนี้ คุณแม่จะช่วยลดความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดลงได้ค่ะ

การอัลตราซาวนด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 24 สัปดาห์

ในครรภ์อายุ 24 สัปดาห์นั้น ลูกกำลังมีพัฒนาการมากขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงด้านโครงสร้างร่างกายนะคะ แต่รวมไปถึงรูปลักษณ์ภายนอกด้วยเช่นกัน ผิวที่บางใสของตัวอ่อนวัย 24 สัปดาห์นั้นจะค่อย ๆ ทึบแสงขึ้น และจะมีสีชมพูสดใส ซึ่งเกิดจากเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ ที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นมานั่นเองค่ะ

ได้เวลาดื่ม! เพราะในช่วงสัปดาห์นี้ คุณหมอจะสั่งให้คุณแม่ตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นการตรวจที่ขึ้นชื่ออย่างหนึ่งของคนท้อง สำหรับหาว่าคุณแม่มีความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์หรือไม่ การตรวจนี้ออกแบบมาเพื่อเช็คกระบวนการจัดการน้ำตาลในร่างกายของคุณแม่ค่ะ โดยคุณแม่จะต้องดื่มของเหลวรสหวานที่เรียกว่า กลูโคลา (ชื่อคล้ายโคคาโคลาแต่ไม่ใช่นะคะ!) จากนั้นก็รอประมาณหนึ่งชั่วโมง เมื่อถึงเวลา คุณหมอจะเจาะเลือดไปตรวจเพื่อดูว่าร่างกายของคุณแม่จัดการกับน้ำตาลเหล่านั้นอย่างไร

หากคุณหมอพบว่าผลออกมาผิดปกติ คุณแม่อาจต้องเข้ารับการตรวจเพิ่มเติมที่เรียกว่าการทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล คราวนี้ต้องนั่งรอลุ้นผลกันแล้วละค่ะ! การทดสอบนี้จะวัดการจัดการน้ำตาลในร่างกายของคุณแม่ในระยะเวลาสามชั่วโมง เพื่อตรวจว่าคุณแม่เป็นเบาหวานในระหว่างตั้งครรภ์จริงหรือไม่ ถ้าเป็นจริง ๆ ก็อย่าเพิ่งหมดอาลัยตายอยากนะคะ มันไม่ได้ร้ายแรงเสียทีเดียวค่ะ คุณหมอจะช่วยแนะนำว่าคุณแม่ควรปฏิบัติตัวอย่างไรต่อไป เพื่อให้การตั้งครรภ์ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่เป็นไปได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด นอกจากนี้ ทั้งคุณแม่และลูกน้อยจะต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษ นั่นหมายถึงการอัลตราซาวนด์เพิ่มค่ะ ถ้ามองในแง่ดี อย่างน้อยคุณแม่ก็จะได้เห็นลูกบ่อยขึ้นนะคะ!

รายการตรวจสอบสำหรับการตั้งครรภ์ 24 สัปดาห์

เรื่องที่ต้องทำในสัปดาห์นี้:

  1. ตรวจคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  2. นัดฝากครรภ์สัปดาห์ที่ 28
  3. เริ่มจัดการของในบ้านให้ปลอดภัยสำหรับการเลี้ยงเด็ก

Processing...

"" เพิ่มไปที่ตะกร้าเรียบร้อยแล้วดูตะกร้า

เพิ่มไปที่รายการโปรดเรียบร้อยแล้ว