ตั้ง‌ครรภ์‌สัปดาห์‌ที่‌ ‌26‌
20 Nov , 2020

ตั้ง‌ครรภ์‌สัปดาห์‌ที่‌ ‌26‌

ถึงแม้ว่าตอนนี้คุณแม่จะยังไม่ได้เจอหน้าลูกก็จริง แต่ลูกเริ่มจะครอบครองทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของคุณแม่แล้ว! ไม่ว่าจะเป็นการขัดขวางการนอน ทำให้ความทรงจำของคุณแม่สับสน และอาจถึงขั้นทำให้คุณแม่ปวดหัวอย่างหนักในสัปดาห์ที่ 26 นี้ (หลังจากคลอดออกมาแล้ว ลูก ๆ ก็ยังจะทำอย่างนั้นต่อไปอีกนานเลยค่ะ!) มีคนเคยบอกว่าคุณแม่มีเวลาถึง 40 สัปดาห์ในการเตรียมพร้อมสำหรับลูกที่กำลังจะเกิดมา ซึ่งนั่นไม่ใช่แค่เพียงการเลี้ยงลูกให้โตและหาซื้อคาร์ซีตกับเปลนอนนะคะ คุณแม่ยังต้องเตรียมใจให้พร้อมสำหรับลูกที่จะเกิดมาแล้วกลายเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตด้วย ในสัปดาห์ที่ 26 นี้ลูกเองก็กำลังฝึกให้คุณแม่ชินเช่นกันค่ะ

ทารกในครรภ์อายุ 26 สัปดาห์มีขนาดตัวเท่าใด

ในสัปดาห์ที่ 26 ลูกมีขนาดตัวประมาณผักเคลช่อใหญ่ ๆ แล้วนะคะ ยาวประมาณ 14 นิ้วและหนักประมาณ 1.7 ปอนด์ ตอนนี้ลูกพัฒนาประสาทสัมผัส เครื่องหน้า และทักษะต่าง ๆ แล้วด้วย! ว้าว!

ตั้งครรภ์ 26 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน

ครรภ์อายุ 26 สัปดาห์เท่ากับหกเดือนค่ะ ถึงแม้ว่าเราจะติดตามการตั้งครรภ์เป็นรายสัปดาห์มากกว่ารายเดือนก็ตาม

อาการเมื่อตั้งครรภ์ได้ 26 สัปดาห์

อาการส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ 26 นี้จะเป็นการไม่สบายตัวเสียเป็นส่วนใหญ่ และจะยิ่งเริ่มไม่สบายมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ในขณะที่ลูกโตขึ้นและร่างกายเริ่มเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ เพื่อเตรียมคลอด

  • มีปัญหาด้านการนอน ฮ้าวววว! ยิ่งใกล้วันคลอดเท่าไหร่ การพักผ่อนยิ่งดูเป็นเรื่องยากมากขึ้นเท่านั้น และที่สำคัญคุณแม่ควรระวังการดื่มคาเฟอีนนะคะ พยายามดื่มน้ำให้เพียงพอและออกกำลังกายเล็ก ๆ น้อย ๆ (ออกไปเดินเล่นบ้างก็ดีค่ะ!) เพื่อช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายในช่วงกลางคืน
  • อาการบวม คุณแม่อาจไม่ชอบใจเท่าไหร่กับอาการบวมที่เกิดขึ้น แต่อาการบวมเล็กน้อยถือเป็นเรื่องปกติในสัปดาห์ที่ 26 ของการตั้งครรภ์ ข้อสำคัญคือคุณแม่ต้องสังเกตว่ามีอาการบวมที่เฉียบพลันและมากผิดปกติหรือไม่ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของภาวะอันตราย คือ ครรภ์เป็นพิษ ทางที่ดีควรรีบแจ้งคุณหมอด่วนหากอาการบวมดูน่ากังวลนะคะ
  • ปวดหัว ส่วนใหญ่แล้วอาการปวดหัวเกิดจากการผันผวนของฮอร์โมนหรือความเครียดค่ะ แต่คุณแม่ก็อาจจะปวดหัวได้เช่นกันถ้าหากหิวหรือร่างกายขาดน้ำ ดังนั้นต้องดูแลตัวเองและลูกให้ดีโดยการรับประทานอาหารทุก ๆ สองสามชั่วโมงและมีน้ำอยู่ใกล้มือเพื่อเอาไว้จิบบ่อย ๆ นะคะ
  • ขี้ลืม คุณแม่ขี้ลืมบ่อยขึ้นหรือเปล่าคะ? อาการนี้อาจเป็นอาการทางกายภาพซึ่งเกิดจากฮอร์โมนที่แปรปรวน หรือบางทีอาจเป็นเพราะคุณแม่มีอะไรต้องคิดเยอะก็ได้ค่ะ
  • เจ็บเตือนหรือเจ็บหลอก สังเกตไหมคะว่าช่วงนี้มีอาการท้องแข็งเกิดขึ้น นั่นคือการบีบตัวของมดลูกค่ะ ใช่ค่ะ มันเกิดขึ้นแล้ว (อาการเจ็บเตือนนี้จะเกิดขึ้นได้ชัดเจนมากกว่าสำหรับผู้หญิงที่ท้องลูกแฝด) แต่อย่าตกใจไปค่ะ กล้ามเนื้อของคุณแม่กำลังเกร็งเพื่อฝึกซ้อมการคลอด หากการบีบตัวไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยหรือรุนแรง ถือว่าไม่มีอันตรายใดใดค่ะ แต่ต้องแจ้งคุณหมอให้ทราบหากอาการบีบตัวนั้นทำให้เจ็บมากและไม่ยอมหยุด เพราะนั่นคือสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนดค่ะ
  • ความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตที่สูงขึ้นเล็กน้อยเป็นเรื่องปกติในสัปดาห์ที่ 26 นี้ หากคุณหมอสังเกตว่าความดันของคุณแม่สูงเกินไป คุณหมออาจจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เพราะความดันโลหิตที่สูงขึ้น (ตัวบนเกิน 140 มม.ปรอท ตัวล่างเกิน 90 มม.ปรอท) อาจเป็นสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษหรืออาการ HELLP ได้ ภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ที่อันตรายเหล่านี้จะต้องได้รับการดูแลทันที

ท้องของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ 26 สัปดาห์

ในสัปดาห์ที่ 26 คุณแม่อาจมีน้ำหนักขึ้นมาระหว่าง 16 ถึง 22 ปอนด์ หรือ 27 ถึง 42 ปอนด์หากอุ้มท้องลูกแฝด เมื่อสัมผัสท้องในสัปดาห์นี้ คุณแม่จะสังเกตได้ว่ายอดมดลูกอยู่เหนือสะดือขึ้นมาราว 2.5 นิ้ว ท้องของคุณแม่จะโตขึ้นประมาณครึ่งนิ้วในทุก ๆ สัปดาห์นับจากสัปดาห์นี้เป็นต้นไป

การอัลตราซาวนด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 26 สัปดาห์

ตอนนี้เหลือเวลาสองสามสัปดาห์ก่อนจะถึงนัดฝากครรภ์คราวหน้า และในสัปดาห์ที่ 26 นี้จะไม่มีการอัลตราซาวนด์ค่ะ คุณแม่อาจจะอยากรู้ว่าในท้องมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง สรุปคร่าว ๆ ได้ดังนี้นะคะ ลูกกำลังหายใจแล้วค่ะ แต่หายใจเอาน้ำคร่ำเข้าไป ยังไม่ใช่อากาศ เป็นการฝึกซ้อมที่ดีสำหรับช่วงเวลาช่วงนาทีแรก ๆ หลังจากคลอดออกมาค่ะ

ตอนนี้ระบบภูมิคุ้มกันของลูกพร้อมแล้วสำหรับโลกภายนอกโดยการซึมซับแอนติบอดีของคุณแม่เข้าไป ดวงตาของลูกเริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้ว อีกไม่นานดวงตาคู่นั้นจะเปิดขึ้นแล้วค่ะ เชื่อไหมคะว่าในสัปดาห์นี้ตัวอ่อนมีขนตาแล้วด้วย อีกไม่นานก็จะกะพริบตาได้แล้ว ว้าว!

รายการตรวจสอบสำหรับการตั้งครรภ์ 26 สัปดาห์

เรื่องที่ต้องทำในสัปดาห์นี้:

  1. ศึกษารายละเอียดต่าง ๆ ในแผนกคลอดบุตรของคุณ
  2. ติดต่อเรื่องเอกสารกับโรงพยาบาลให้เรียบร้อย
  3. สื่อสารกับลูก

Processing...

"" เพิ่มไปที่ตะกร้าเรียบร้อยแล้วดูตะกร้า

เพิ่มไปที่รายการโปรดเรียบร้อยแล้ว