ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 34
21 Nov , 2020

ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 34

ช่วงนี้ต้องระวังคำพูดหน่อยนะคะ! ลูกน้อยที่อยากรู้อยากเห็นสามารถได้ยินเสียงคุณแม่และกำลังฟังเวลาคุณแม่พูดคุยในช่วงสัปดาห์ที่ 34 นี้ ที่จริงแล้วลูกอาจจะอยากฟังเพลงกล่อมเด็กสักหน่อย เพราะฉะนั้นลองหาเพลงมาร้องให้ลูกฟังดูนะคะ ผู้เชี่ยวชาญบางท่านบอกว่า หลังจากคลอดออกมาแล้ว ลูกจะสามารถจำเพลงที่คุณแม่ร้องให้ฟังขณะอยู่ในครรภ์ได้ และอาจจะหายงอแงง่ายขึ้นหากได้ยินเสียงที่เคยได้ยินมาก่อนที่จะออกมาอยู่ใน “โลกภายนอก” และไม่ต้องห่วงค่ะ ลูกไม่สนใจเลยว่าคุณแม่จะร้องเพี้ยนหรือไม่

ทารกในครรภ์อายุ 34 สัปดาห์มีขนาดตัวเท่าใด

ในสัปดาห์นี้ลูกมีขนาดเท่าฟักทองน้ำเต้าแล้วนะคะ เหลืออีกเพียงไม่ถึง 2 เดือนลูกก็จะออกมาแล้ว ตอนนี้ลูกมีน้ำหนักประมาณ 4.7 ปอนด์และยาวประมาณ 17.7 นิ้วค่ะ

ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน

34 สัปดาห์เท่ากับ 8 เดือนค่ะ อีกเพียง 6 สัปดาห์คุณแม่ก็จะกลายเป็นคุณแม่เต็มตัวแล้ว!

อาการเมื่อตั้งครรภ์ได้ 34 สัปดาห์

อาการส่วนใหญ่ที่คุณแม่ต้องประสบในสัปดาห์ที่ 34 นี้ ซึ่งจะเป็นเรื่องปกติในการตั้งครรภ์ช่วงท้าย และจะทำให้รู้สึกรำคาญมาก ๆ ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปค่ะ

  • ดวงตาพร่ามัว เกิดจากทั้งฮอร์โมนที่แปรปรวน ของเหลวที่เพิ่มขึ้น และการนอนไม่พอ ทั้งหมดนี้ทำให้คุณแม่มีสายตาที่ “แย่ลง” เล็กน้อย บางครั้งมันก็เป็นเพียงอาการระหว่างการตั้งครรภ์ที่แสนจะธรรมดา แต่ถ้าดวงตาพร่ามัวมาพร้อมกับอาการบวม ปวดหัว น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือตัวบวมอย่างรวดเร็ว มันก็สามารถเป็นสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษได้ ดังนั้นจึงต้องรีบแจ้งคุณหมอโดยด่วนค่ะ
  • อ่อนเพลีย การต้องแบกน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นไปไหนมาไหนด้วยก็เป็นเรื่องที่เหนื่อยจะแย่อยู่แล้ว (ไม่ว่าคุณแม่จะอุ้มท้องลูกคนเดียวหรือลูกแฝดก็ตาม!) แถมคุณแม่ยังนอนไม่ค่อยหลับอีก
  • ท้องผูก อาการขับถ่ายไม่สะดวกในสัปดาห์นี้เป็นเรื่องปกติค่ะ ซึ่งจะยิ่งทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัวมากขึ้นไปอีก อย่าลืมเดินบ่อย ๆ รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง (เช่น ผักใบเขียว) และดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีนะคะ
  • ริดสีดวงทวาร นี่เป็นวงจรที่แย่มากเลยค่ะ! การเบ่งเวลาเข้าห้องน้ำสามารถทำให้เกิดอาการที่ไม่สนุกอย่างยิ่งนี้ได้นะคะ ไหนจะน้ำหนักที่ลูกกดทับลำไส้ของคุณแม่อีก การบรรเทาทำได้โดยจัดการกับปัญหาท้องผูกและพยายามเปลี่ยนท่านั่งท่ายืนบ่อย ๆ เพื่อคลายแรงกดในบริเวณนั้น ๆ ค่ะ
  • ข้อเท้าและเท้าบวม คุณแม่พยายามนั่งและยกขาสูงทุกครั้งที่ทำได้นะคะ เพื่อที่จะได้ลดอาการบวมค่ะ
  • แรงกดในช่องท้อง เนื่องจากลูกเตรียมตัวที่จะออกมาดูโลกและเคลื่อนตัวต่ำลง คุณแม่จึงรู้สึกได้ถึงแรงกดในอุ้งเชิงกรานและอาจจะปัสสาวะบ่อยขึ้นมากเลยค่ะ
  • เจ็บเตือนหรือเจ็บหลอก ในสัปดาห์นี้ ความรู้สึกบีบเกร็งในช่องท้องเป็นเรื่องธรรมดาค่ะ เพราะร่างกายของคุณแม่กำลังเตรียมพร้อมเมื่อวันจริงมาถึง แต่ให้ระวังไว้ว่าในสัปดาห์นี้อาการเจ็บหัวหน่าวก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาได้เช่นกัน หากมีอาการมดลูกบีบตัวที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเกินหนึ่งชั่วโมง มีเลือดออกจากช่องคลอด และปวดหลังช่วงล่าง นั่นเป็นอาการของการคลอดก่อนกำหนดค่ะ ถ้าคุณแม่มีอาการที่น่ากังวลเหล่านี้ รีบแจ้งคุณหมอให้ทราบด่วนนะคะ

ท้องของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์

ครรภ์อายุ 34 สัปดาห์ของคุณแม่อาจจะดูเหมือนลดต่ำลงมาเล็กน้อย (หรือมาก) กว่าเมื่อสองสามสัปดาห์ที่แล้ว นั่นเป็นเพราะตอนนี้ลูกเคลื่อนลงมาอยู่ในอุ้งเชิงกรานแล้วค่ะ ซึ่งจะทำให้คุณแม่หายใจได้สบายขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากปอดมีพื้นที่มากขึ้น โล่ง! (ทารกบางคนก็อาจจะไม่ได้เคลื่อนลงมาจนถึงวันที่คลอดจริง ข้อนี้จึงรับปากไม่ได้ทั้งหมดนะคะ) แต่แน่นอนว่าผลที่เกิดจากการเคลื่อนตัวลงมานี้คือแรงกดบริเวณกระเพาะปัสสาวะที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นเตรียมตัวให้พร้อมหากต้องเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้นในช่วงสัปดาห์ข้างหน้านี้นะคะ

ในสัปดาห์นี้ ท้องของคุณแม่ควรจะมีขนาด 32 - 36 เซนติเมตร วัดจากยอดมดลูกจนถึงกระดูกหัวหน่าว หากวัดแล้วท้องใหญ่กว่าหรือเล็กกว่านี้เล็กน้อย ก็อาจจะหมายความว่าลูกของคุณแม่ตัวใหญ่หรือตัวเล็กกว่าค่าเฉลี่ย ยังไม่กลับหัว หรือตะแคงอยู่นะคะ รวมถึงอาจจะมีปัญหาเรื่องระดับของน้ำคร่ำด้วย ไม่ว่าจะมีความผิดปกติใดก็ตามเกี่ยวกับความสูงของยอดมดลูก (การวัดท้องนั่นเอง) คุณหมอก็อาจสั่งให้คุณแม่ได้รับการอัลตราซาวนด์เพื่อหาต้นเหตุของปัญหาค่ะ

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ: น้ำคร่ำจะอยู่ในระดับสูงที่สุดระหว่างสัปดาห์ที่ 34 - 36 ดังนั้นคุณแม่จึงอาจจะรู้สึกว่าท้องของตัวเองไม่ได้ใหญ่ขึ้นมากหลังจากช่วงนี้ นั่นก็เพราะของเหลวจะลดลงเพื่อให้ลูกโตขึ้นและมีพื้นที่ขยับมากขึ้น ตอนนี้ลูกจะรู้สึกสบายพอสมควร และทำให้เวลาที่ลูกดิ้นนั้นคุณแม่จะรู้สึกต่างจากก่อนหน้านี้ไปเล็กน้อยค่ะ

คุณแม่ต้องคอยนับอัตราการดิ้นของลูกอย่าให้ขาดนะคะ ทำทุกวัน วันละสองครั้ง ให้คุณแม่ตั้งนาฬิกาและดูว่าลูกใช้เวลาเท่าไรในการดิ้น 10 ครั้ง (ควรจะไม่เกิน 1 ชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้น) แจ้งคุณหมอทันทีนะคะหากมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเกิดขึ้น

ถ้าคุณแม่ตั้งท้องลูกแฝด คุณแม่อาจจะรู้สึกกระสับกระส่ายพอสมควรทีเดียว ซึ่งนั่นอาจจะเป็นสัญญาณทางจิตวิทยาที่คอยเตือนแบบอ้อม ๆ ว่าลูกกำลังจะคลอดแล้ว สำหรับคุณแม่ลูกแฝด เริ่มนับถอยหลังได้แล้วนะคะ เนื่องจากการตั้งครรภ์แฝดนั้นใช้เวลาเต็มที่ประมาณ 37 สัปดาห์ หากคุณแม่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคลอดก่อนหน้านี้ คุณแม่ก็จะเจ็บท้องคลอดในราวสัปดาห์ที่ 37 นี้เองค่ะ

การอัลตราซาวนด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 34 สัปดาห์

คุณแม่น่าจะได้พบคุณหมอในสัปดาห์นี้ เนื่องจากตอนนี้จะต้องพบทุก ๆ สองสัปดาห์ ถ้าหากคุณหมอมีคำสั่งมา คุณแม่ก็อาจจะได้รับการตรวจ Biophysical profile (BPP) ซึ่งเป็นการผสมระหว่างการอัลตราซาวนด์ในสัปดาห์ที่ 34 และการตรวจ Non-stress test (NST) ซึ่งเป็นการวัดอัตราการเต้นของหัวใจทารกในช่วงระยะเวลา 20 นาที การตรวจทั้งสองอย่างนี้จะช่วยให้คุณหมอยืนยันได้ว่าลูกมีปฏิกิริยาตอบสนองที่ดีต่อความเครียดและการเจริญเติบโตค่ะ

สัปดาห์หน้า คุณแม่จะยังไม่ต้องพบคุณหมอนะคะ ขอให้คุณแม่ทำใจให้สบาย เพราะตั้งแต่สัปดาห์ที่ 36 เป็นต้นไป คุณแม่จะต้องพบคุณหมอทุกสัปดาห์ค่ะ ในช่วงสัปดาห์ที่ 36 นี้ คุณแม่อาจต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อ GBS (Group B streptococcus) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้ ท่อปัสสาวะ และช่องทางระบบสืบพันธุ์ มักจะพบที่ช่องคลอดหรือทวารหนักของสตรีมีครรภ์ การตรวจหาเชื้อทำได้โดยป้ายของเหลวจากช่องคลอดและทวารหนักไปตรวจ 10 - 30% ของหญิงตั้งครรภ์มีผลตรวจเป็นบวกค่ะ ซึ่งอาจจะมีอันตรายต่อเด็กได้หากมีการส่งผ่านเชื้อระหว่างคลอด แต่ถึงคุณแม่มีผลตรวจเป็นบวกก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลนะคะ คุณแม่เพียงแค่จะต้องได้รับยาปฏิชีวนะระหว่างเจ็บท้องและตอนคลอดเท่านั้นเอง จะหาหนังสือไปนั่งอ่านเล่นระหว่างรอก็ได้ค่ะ

รายการตรวจสอบสำหรับการตั้งครรภ์ 34 สัปดาห์

เรื่องที่ต้องทำในสัปดาห์นี้:

  1. นัดฝากครรภ์สัปดาห์ที่ 36
  2. กรุยทางเพื่อการคลอดที่ราบรื่น
  3. เขียนคำขอบคุณสำหรับงานเบบี้เชาเวอร์

Processing...

"" เพิ่มไปที่ตะกร้าเรียบร้อยแล้วดูตะกร้า

เพิ่มไปที่รายการโปรดเรียบร้อยแล้ว