ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 37
21 Nov , 2020

ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 37

นี่คือเวลาของการทำความสะอาดให้เอี่ยมอ่อง...น่าสนุกใช่ไหมคะ ในสัปดาห์ที่ 37 นี้ คุณแม่หลายคนพบว่าตัวเองพยายามจัดตู้และขัดพื้นอยู่ตลอดเวลา นี่เป็นปรากฏการณ์ที่คนเรียกอย่างน่ารักว่า “Nesting หรือ การทำรัง” ค่ะ มันอาจเกิดจากสัญชาตญาณ เพราะร่างกายของคุณแม่รู้สึกได้ว่าลูกกำลังจะมาแล้ว อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้คุณแม่อุ้มท้องได้ 37 สัปดาห์แล้ว ถือว่าอยู่ในช่วง “ใกล้คลอดระยะแรก” หมายความว่าลูกเกือบจะพร้อมเต็มที่แล้วนั่นเอง การทำรังอาจเป็นวิธีการที่สมองใช้เพื่อพยายามทำให้คุณแม่แน่ใจว่าเตรียมตัวพร้อมที่สุดเท่าที่จะพร้อมได้แล้วด้วย และการมีเบาะสำหรับเด็กอ่อนอยู่ในบ้านก็ทำให้คุณแม่เข้าใกล้ความเป็นพ่อแม่ที่แท้จริงมากขึ้น อย่างน้อยนั่นก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่คุณแม่สามารถควบคุมได้นะคะ!

ทารกในครรภ์อายุ 37 สัปดาห์มีขนาดตัวเท่าใด

ในสัปดาห์นี้ลูกมีขนาดเท่าหัวผักกาดขนาดใหญ่ ๆ แล้วนะคะ ซึ่งยาวประมาณ 19.1 นิ้ว และน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 6.3 ปอนด์ ในระยะนี้ลูกจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณครึ่งออนซ์ต่อวัน

ตั้งครรภ์ 37 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน

เมื่อท้องได้ 37 สัปดาห์ แปลว่าคุณแม่ท้องได้ 9 เดือนค่ะ เหลืออีกเพียง 3 สัปดาห์เท่านั้นก็จะถึงวันคลอดแล้ว

อาการเมื่อตั้งครรภ์ได้ 37 สัปดาห์

ในสัปดาห์นี้ อาการที่เกิดขึ้นอาจทำให้คุณแม่สับสนว่าเป็นการเจ็บจริงหรือเปล่า รายละเอียดมีดังต่อไปนี้นะคะ

  • แสบร้อนกลางอก เนื่องจากเข้าใกล้วันคลอดขึ้นทุกที ลูกจึงยังคงสร้างแรงกดต่อระบบย่อยอาหารของคุณแม่อย่างต่อเนื่อง
  • มีเลือดออก การมีเลือดออกเล็กน้อยเป็นเรื่องปกติในสัปดาห์นี้ค่ะ อย่าลืมว่าปากมดลูกของคุณแม่มีความอ่อนไหวอย่างยิ่งในขณะที่ตั้งครรภ์ ดังนั้นการมีเพศสัมพันธ์จึงอาจสร้างความระคายเคืองและทำให้เลือดออกได้ แต่รีบโทร.แจ้งคุณหมอนะคะถ้ามีเลือดออกเกิน 2 หรือ 3 หยด การมีเลือดออกทางช่องคลอดอาจเป็นสัญญาณของปัญหาที่เกิดขึ้นกับรกได้ (เช่น ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด) และเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการรักษาทันที อย่างไรก็ตาม คุณแม่อย่าสับสนระหว่างการมีเลือดออกกับการมี “มูกเลือด” นะคะ มูกเลือดคือตกขาวที่มีเลือดปน ซึ่งเป็นสัญญาณบอกว่าปากมดลูกของคุณแม่กำลังเตรียมพร้อมกับการคลอดแล้ว และไม่มีอันตรายใด ๆ ค่ะ
  • รอยแตกลาย น่าเห็นใจจริง ๆ ค่ะ แต่รอยแตกลายใหม่ ๆ อาจเพิ่งปรากฏขึ้นในสัปดาห์นี้ และในทุก ๆ สัปดาห์หลังจากนี้ อย่าลืมทาน้ำมันอย่างสม่ำเสมอนะคะ เราขอแนะนำผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสำหรับคุณแม่เหล่านี้ นอกจากนี้ยังควรดื่มน้ำมาก ๆ ถึงแม้ว่าจะต้องเข้าห้องน้ำบ่อย อาจจะทุก ๆ 2 นาทีก็ตาม
  • แรงกดในช่องท้อง ถ้าลูกเคลื่อนตัวลงมาสู่อุ้งเชิงกรานเพื่อเตรียมคลอดแล้ว ลูกจะกดทับช่องท้องของคุณแม่ค่ะ ซึ่งอาจทำให้รู้สึกเจ็บหรือปวดในบริเวณท้องช่วงล่างมากขึ้น และจะอยากปัสสาวะบ่อยขึ้นด้วยเช่นกัน!
  • มีปัญหาด้านการนอน การตื่นขึ้นมากลางดึกเป็นเรื่องธรรมดาในการตั้งครรภ์ช่วงท้ายค่ะ วิธีการที่จะทำให้รู้สึกง่วงง่ายขึ้นก็อย่างเช่น ออกกำลังกายเบา ๆ ให้เพียงพอในระหว่างวัน ดื่มน้ำมาก ๆ แต่ห้ามดื่มก่อนจะนอนนะคะ และจำกัดปริมาณคาเฟอีนต่อวันด้วยค่ะ
  • การบีบตัว ในสัปดาห์นี้อาการปวดท้องหรือการบีบตัวเกิดขึ้นได้ค่ะ เพราะอีกไม่นานลูกก็จะคลอดแล้ว ร่างกายจึงกำลังเตรียมตัวให้พร้อม คุณแม่จะพบว่าการบีบตัวนั้นหายไปเมื่อนั่งลงหรือนอนลง นั่นหมายความว่าเป็นการเจ็บเตือนหรือเจ็บหลอกค่ะ ไม่ใช่การเจ็บท้องที่แท้จริง อย่าลืมดื่มน้ำให้เพียงพอ เนื่องจากการขาดน้ำจะทำให้คุณแม่คลอดก่อนจะถึงเวลาอันควรได้
  • คลื่นไส้ อาการปั่นป่วนในท้องนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในระหว่างการตั้งครรภ์ แต่ตอนนี้ เนื่องจากคุณแม่ใกล้วันคลอดเข้าไปทุกที มันสามารถเป็นสัญญาณที่บอกว่าคุณแม่ใกล้คลอดแล้วก็ได้ค่ะ (โอ้โห!) ถ้าการคลื่นไส้นั้นรุนแรงมาก โดยเฉพาะถ้าคุณแม่อาเจียนออกมาจริง ๆ รีบแจ้งคุณหมอนะคะ คุณหมอจะได้รับมืออาการแทรกซ้อนหรือโรคต่าง ๆ เช่นภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ (HELLP) และครรภ์เป็นพิษได้ทันเวลา

คุณแม่ตั้งท้องลูกแฝดอยู่หรือเปล่าคะ ประมาณ 57% ของลูกแฝดคลอดออกมาก่อนสัปดาห์ที่ 37 ค่ะ ดังนั้นถ้าลูกทั้งสองยังอยู่ในท้อง ก็ถือว่าคุณแม่เป็นส่วนน้อยของแม่ลูกแฝดทั้งหมดนะคะ และถึงแม้จะรู้สึกไม่สบายตัวอย่างยิ่งและกระสับกระส่ายอยากให้ลูกออกมาได้แล้ว แต่คุณแม่กำลังทำได้ดีมากเลยนะคะ เพราะยิ่งอยู่ในท้องนานก็ยิ่งดีต่อสุขภาพของลูกค่ะ

สัญญาณของการคลอดในสัปดาห์ที่ 37

ในสัปดาห์ที่ 37 นี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่คุณแม่จะทบทวนสัญญาณที่บอกว่าตัวเองใกล้คลอดแล้วหรือยัง ในแต่ละวัน โอกาสที่คุณแม่จะคลอดก็เพิ่มมากขึ้นทุกที และคงไม่มีใครอยากคลอดลูกในรถเพราะไปโรงพยาบาลไม่ทันหรอกใช่ไหมคะ (ไม่ได้ตั้งใจจะทำให้คุณแม่กลัวนะคะ เพราะว่าโอกาสที่จะคลอดลูกในรถนั้นมีไม่เยอะเท่าไร เราแค่อยากให้คุณแม่เตรียมตัวให้พร้อมเท่านั้นเองค่ะ)

สัญญาณหลากหลายแบบที่บอกว่าคุณแม่ใกล้คลอดนั้นอาจจะแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ นั่นคือ ใกล้คลอดแล้ว และกำลังจะคลอดแล้ว

คุณแม่ใกล้คลอดแล้วค่ะ ถ้าสังเกตสัญญาณเหล่านี้ได้ในสัปดาห์นี้ (ถึงแม้จะบอกไม่ได้ก็ตามว่าใกล้คือใกล้ขนาดไหน เพราะการตั้งท้องนั้นมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน ขอโทษจริง ๆ ค่ะ!)

  • มีมูกขาวหรือมูกปนเลือด คุณแม่อาจมองเห็นมูกเหนียวติดอยู่ที่กางเกงชั้นใน อาจจะออกมาเป็นก้อนใหญ่ก้อนเดียวหรือค่อย ๆ ออกมาทีละนิด นั่นคือมูกที่ช่วยปกป้องปากมดลูกของคุณแม่มาตลอด เมื่อปากมดลูกเริ่มเปิด มูกนั้นก็จะถูกขับออกมาเพื่อเปิดทางให้ลูก มูกนี้อาจมีเลือดปนหรือไม่มีก็ได้ค่ะ
  • คลื่นไส้ ผู้หญิงบางคนยืนยันว่าตัวเองรู้สึกไม่สบายท้องก่อนจะเริ่มเจ็บท้องคลอด ดังนั้นอาการคลื่นไส้ในสัปดาห์นี้อาจหมายถึงว่าลูกกำลังจะออกมาแล้วค่ะ
  • ท้องเสีย ในสัปดาห์นี้อาการท้องเสียอาจเป็นการท้องเสียทั่วไปหรืออาจหมายถึงว่าคุณแม่กำลังจะคลอดก็ได้ค่ะ นั่นเพราะฮอร์โมนของคุณแม่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการคลอด จึงอาจไปกระตุ้นการทำงานของลำไส้นั่นเอง

ส่วนด้านล่างนี้จะเป็นสัญญาณที่บอกว่าคุณแม่กำลังจะคลอดแล้ว ดังนั้นคุณแม่จึงควรโทร.หาคุณหมอทันทีหากมีอาการใดก็ตามเกิดขึ้น

  • น้ำเดิน ถ้าคุณแม่รู้สึกว่ามีน้ำซึมออกมา ไม่ว่าจะออกมาเป็นปริมาณมากหรือค่อย ๆ ออกมาก็ตาม มันอาจจะเป็นน้ำคร่ำนะคะ ผู้หญิงส่วนใหญ่จะเจ็บท้องในช่วง 12 ชั่วโมงเมื่อมีอาการน้ำเดินค่ะ
  • การบีบตัวสม่ำเสมอ ท้องของคุณแม่มีอาการบีบตัวสม่ำเสมอหรือเปล่าคะ หากการบีบตัวนั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและถี่ขึ้นเรื่อย ๆ แปลว่าคุณแม่กำลังจะคลอดแล้วค่ะ ขณะที่มดลูกบีบตัว ปากมดลูกจะเปิดออกเพื่อที่ลูกจะได้ผ่านออกมาได้ หากเป็นท้องแรก คุณแม่อาจมีอาการบีบของมดลูกจนเจ็บอยู่หลายชั่วโมงก่อนที่จะพร้อมคลอดจริง ซึ่งในตอนนั้นการบีบตัวจะทำให้คุณแม่เจ็บมากและไม่สามารถทำอะไรได้เลย (ซึ่งคุณแม่ควรจะอยู่ที่โรงพยาบาลแล้วนะคะ)
  • ปวดหลัง นี่คืออาการ “ปวดหลังก่อนคลอด” ที่น่ากลัวนั่นเองค่ะ บางทีตำแหน่งของลูกก็ทำให้เกิดแรงกดที่เพิ่มขึ้นต่อกระดูกสันหลังของคุณแม่ได้ ถ้าปวดหลังอย่างต่อเนื่องและรุนแรงมากกว่าที่เคยรู้สึกมาตั้งแต่ตั้งครรภ์ หรืออาการปวดลามจากท้องไปถึงหลัง (หรือจากหลังมาถึงท้อง) นั่นแปลว่าคุณแม่จะคลอดแล้วค่ะ

คุณหมอจะบอกคุณแม่ไว้ก่อนแล้วว่าเมื่อไรที่คุณแม่ควรมาโรงพยาบาล ถ้าน้ำเดิน คุณหมออาจจะให้คุณแม่แอดมิตทันที เพราะคุณแม่จะต้องได้รับการติดตามมีการติดเชื้อเกิดขึ้นหรือไม่ แต่หากคุณแม่มีอาการมดลูกบีบตัวแต่น้ำคร่ำยังไม่ไหลออกมา การบีบตัวนั้นต้องเกิดขึ้นห่างกัน 5 นาทีหรือน้อยกว่านั้น ก่อนที่โรงพยาบาลจะให้คุณแม่แอดมิต ดังนั้นยิ่งอยู่ไกลจากโรงพยาบาลเท่าไร คุณแม่ก็ยิ่งต้องรีบออกเดินทางเท่านั้นนะคะ

ในสัปดาห์นี้ คุณแม่หลายคนจะอยากรู้ว่าวิธีไหนบ้างที่ช่วยเร่งคลอดได้ แต่อย่าใจร้อนเกินไปค่ะ! ตัวอ่อนวัย 37 สัปดาห์ยังถือว่าอยู่ใน “ช่วงใกล้คลอดระยะแรก” เท่านั้น นั่นหมายความว่าคุณหมอจะไม่แนะนำให้เร่งคลอดหรือผ่าตัดคลอดในตอนนี้นะคะ เพราะในสัปดาห์นี้ตัวอ่อนยังต้องการเวลาอีก 2 - 3 สัปดาห์เพื่อให้การพัฒนาสมบูรณ์พร้อมทุกด้าน ถ้าคุณแม่เจ็บท้องคลอดเอง ถือว่าดีค่ะ แต่ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่คุณแม่จะต้องเร่งนะคะ อดทนอีกไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น เพราะนั่นจะสามารถสร้างความแตกต่างอย่างมหาศาลให้แก่สุขภาพของลูกในตอนที่คลอดออกมาได้ค่ะ คิดเสียว่าเป็นการเสียสละเพื่อแสดงความรักต่อลูกนะคะ!

การอัลตราซาวนด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 37 สัปดาห์

ลูกกำลังฝึกทักษะใหม่ที่ยอดเยี่ยมมาก นั่นคือ การหายใจเข้า หายใจออก การดูด การใช้มือจับ และการกะพริบตาค่ะ ส่วนที่ไม่ค่อยน่ารักก็คือ ลูกมีอุจจาระแล้วในตอนนี้ (เรียกว่าขี้เทา) และพร้อมสำหรับผ้าอ้อมผืนแรกแล้ว

การอัลตราซาวนด์ในสัปดาห์นี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจ BPP การตรวจนี้ออกแบบมาเพื่อดูว่าลูกมีสุขภาวะที่ดีแค่ไหน โดยใช้การอัลตราซาวนด์ประกอบกับผลการตรวจ NST

สำหรับคุณแม่ที่ท้องลูกแฝด คุณหมออาจจะคุยกับคุณแม่เรื่องการเร่งคลอดหรือการผ่าคลอด (ขึ้นอยู่กับประวัติสุขภาพและสภาพของทารกในครรภ์) คุณหมอบางท่านอาจแนะนำให้ทำในสัปดาห์ที่ 38 ดังนั้นอีกสัปดาห์เดียวคุณแม่ก็จะได้เจอลูกแล้วค่ะ

ไม่ว่าคุณแม่จะคลอดลูกเมื่อไรและด้วยวิธีไหน พยายามอย่าใจร้อนเกินไปนะคะ เตือนตัวเองว่าลูกอาจจะคลอดออกมาวันไหนก็ได้ หรืออาจจะอีก 2 - 3 สัปดาห์ก็ได้ ถ้าคุณแม่รู้สึกกังวลใจมาก ลองทำความสะอาดบ้านดูค่ะ (ทำทั้งบ้านแล้วงั้นหรือคะ ลองดูที่หลังตู้เย็นหรือยังเอ่ย?)

รายการตรวจสอบสำหรับการตั้งครรภ์ 37 สัปดาห์

เรื่องที่ต้องทำในสัปดาห์นี้:

  1. นัดฝากครรภ์สัปดาห์ที่ 38
  2. ศึกษาสัญญาณที่บ่งบอกถึงอาการซึมเศร้าหลังคลอด
  3. ทบทวนวิธีการดูแลลูก
  4. ซื้อผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสำหรับคุณแม่

Processing...

"" เพิ่มไปที่ตะกร้าเรียบร้อยแล้วดูตะกร้า

เพิ่มไปที่รายการโปรดเรียบร้อยแล้ว