ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 38
21 Nov , 2020

ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 38

โอ๊ย! ถ้าคุณแม่รู้สึกเหมือนมีอาการเจ็บจี๊ดวิ่งขึ้นลงตามขา (และอาจจะที่บริเวณอวัยวะเพศด้วย!) อย่าตกใจไปค่ะ ในสัปดาห์ที่ 38 นี้ ทารกอาจจะอยู่ต่ำลงไปมากในบริเวณอุ้งเชิงกราน หมายความว่าลูกกำลังกดทับเส้นประสาทบริเวณนั้นทั้งหมด รวมถึงเส้นประสาทที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษที่คุณแม่อาจไม่รู้มาก่อนด้วยซ้ำว่าตัวเองมีอยู่ ขณะที่คุณแม่กำลังรับมือกับอาการไม่สบายตัวอาการใหม่นี้ อย่าลืมจับสังเกตสัญญาณที่บอกว่ากำลังจะคลอดด้วยนะคะ ทั้งการบีบตัวของมดลูกที่รุนแรงและถี่ขึ้นเรื่อยๆ และที่ขาดไม่ได้คือ “มูกปนเลือด” ที่ถูกขับออกมา งานช้างจะมาถึงวันไหนก็ได้แล้วในตอนนี้ หรืออาจจะต้องรออีก 2 - 3 สัปดาห์ก็ได้ค่ะ ระหว่างนี้ อยากให้คุณแม่ทำใจให้สบายนะคะ

ทารกในครรภ์อายุ 38 สัปดาห์มีขนาดตัวเท่าใด

ในสัปดาห์ที่ 38 นี้ ลูกมีขนาดตัวเท่ากับลูกฟักเขียวแล้วนะคะ ยาวประมาณ 19.6 นิ้ว ศีรษะและช่วงท้องมีเส้นรอบวงเท่า ๆ กัน น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 6.8 ปอนด์ ใกล้เคียงกับตอนคลอดแล้วใช่ไหมคะ

ตั้งครรภ์ 38 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน

ตอนนี้คุณแม่ท้องได้ 9 เดือนแล้วค่ะ เหลือเวลาอีกไม่นานลูกก็จะออกมาแล้ว

อาการเมื่อตั้งครรภ์ได้ 38 สัปดาห์

อาการทั่วไปในสัปดาห์ที่ 38 นี้คืออาการของคนท้องอย่างแท้จริงเลยค่ะ คุณแม่ตัวใหญ่ขึ้น ลูกเกือบจะพร้อมออกมาดูโลกแล้วและร่างกายคุณแม่ก็กำลังเตรียมพร้อมสำหรับวันสำคัญ (วันคลอดนั่นเอง) ร่างกายของคุณแม่จะมีอาการดังต่อไปนี้ค่ะ

  • เจ็บเตือนหรือเจ็บหลอก ในสัปดาห์นี้ การบีบตัวของมดลูกเป็นเรื่องปกติเลยนะคะ คุณแม่อาจรู้สึกถึงอาการนี้มาหลายสัปดาห์แล้ว หรืออาจจะเพิ่งเริ่มสังเกตว่ามดลูกเริ่มบีบตัวก็ได้ ถ้าการบีบตัวไม่ทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บและหายไปเมื่อเปลี่ยนท่า นั่นคืออาการเจ็บเตือนหรือเจ็บหลอกเฉย ๆ ค่ะ (มดลูก “ซ้อม” บีบตัว)
  • มีปัญหาด้านการนอน บางทีคุณแม่อาจรู้สึกกังวล หรืออาจเกิดจากความเจ็บปวดทั้งหลายที่เจอก็ได้ แต่สำหรับคนที่รู้สึกเหนื่อยมาก ๆ การจะนอนพักในยามค่ำคืนนั้นเป็นเรื่องที่ยากลำบากเหลือเกิน!
  • ตกขาวเพิ่มขึ้น คุณแม่อาจจะเริ่มสังเกตได้ว่ามีก้อนมูกหนาหลุดออกมา สิ่งที่ดูเหมือนจะไม่โสภานี้คือมูกที่ปิดปากมดลูกอยู่ค่ะ และมันเป็นเรื่องที่ปกติมาก มันถูกขับออกมาเมื่อปากมดลูกเริ่มเปิดเพื่อเตรียมคลอด ทำใจกล้า ๆ เอาไว้ค่ะ มูกเหล่านั้นหมายถึงว่าคุณแม่ใกล้คลอดเข้าไปทุกที
  • คันท้อง ท้องในสัปดาห์ที่ 38 นี้ยืดขยายออกมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จึงเป็นไปได้ที่ผิวจะรู้สึกบอบบางกว่าเดิม การเติมความชุ่มชื้นสามารถช่วยได้นะคะ ในช่วงนี้ คุณแม่อาจจะอยากเปลี่ยนไปใช้มอยส์เจอไรเซอร์ที่เข้มข้นมาก เช่น เชียบัตเตอร์ และผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสำหรับคนท้อง อย่าลืมดื่มน้ำมาก ๆ ด้วยนะคะ ส่วนสิ่งที่ผิดปกติคือผื่น ถ้าผื่นขึ้นเมื่อไหร่ต้องรีบบอกให้คุณหมอทราบเลยค่ะ
  • เท้าและข้อเท้าบวม คุณแม่ท้องได้ 38 สัปดาห์แล้ว แปลว่าพอจะมีข้ออ้างที่ดีในการการนั่งพักและยกเท้าสูงเท่าที่อยากทำ ไปเดินบ่อย ๆ นะคะ จะได้ช่วยให้เลือดไหลเวียนสะดวกและลดอาการบวมลง
  • วิตกกังวล ในสัปดาห์นี้ความกังวลที่มีต่อการตั้งครรภ์เป็นเรื่องปกติค่ะ ความรู้สึกที่พร้อมจะให้ลูกคลอดออกมาแล้วนี้จะทวีความรุนแรงถ้าคุณแม่น้ำหนักขึ้นมาในช่วงการตั้งครรภ์เยอะเป็นพิเศษ มีภาวะแทรกซ้อน หรือท้องลูกแฝด พยายามคิดแต่เรื่องสนุกๆ นะคะ ไปดูหนัง ไปดินเนอร์กับคุณพ่อ ไปกินมื้อกลางวันกับเพื่อน นี่เป็นช่วงไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์สุดท้ายก่อนลูกที่เพิ่งเกิดจะดึงความสนใจทุกอย่างของคุณแม่ไป เพราะฉะนั้นต้องใช้ชีวิตให้มีความสุขที่สุดนะคะ

สัญญาณของการคลอดในสัปดาห์ที่ 38

ในสัปดาห์นี้ สัญญาณของการคลอดอาจจะเริ่มขึ้นแล้ว สัญญาณในช่วงต้นได้แก่

  • มีมูกหรือมูกปนเลือด คุณแม่อาจมีตกขาวที่มีลักษณะเป็นมูกเหนียว (มูกปิดปากมดลูก) และอาจมีเลือดปนเล็กน้อย (มูกเลือดก่อนคลอด) นี่คือสัญญาณที่บอกว่าปากมดลูกของคุณแม่เริ่มเปิดเพื่อเตรียมคลอดแล้วค่ะ
  • ท้องเสีย ในสัปดาห์ที่ 38 นี้ อาการท้องเสียอาจไม่ได้เกิดจากการรับประทานอาหารเผ็ด แต่อาจเป็นสัญญาณของฮอร์โมนในช่วงใกล้คลอด ใกล้จะถึงเวลาแล้วค่ะ
  • คลื่นไส้ คุณแม่บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ในสัปดาห์นี้ นี่อาจไม่ใช่สัญญาณของการคลอดเสมอไป แต่หลายคนยืนยันว่ารู้สึกถึงอาการคลื่นไส้ก่อนจะเริ่มเจ็บท้อง
  • มดลูกบีบตัว ในสัปดาห์นี้ การบีบตัวของมดลูกกลายเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทุกวันไปแล้วค่ะ หรือคุณแม่อาจจะยังไม่รู้สึกเลยสักนิดก็ได้ แต่คุณแม่ควรรู้ไว้ว่า ถ้าท้องเริ่มแข็งขึ้นมาเป็นระยะและอาการไม่หายไป นั่นแปลว่ามีโอกาสที่คุณแม่จะเริ่มเข้าสู่การเจ็บท้องคลอดแล้ว การบีบตัวของมดลูกที่ทำให้รู้สึกเจ็บ หรือเกิดขึ้นทุก ๆ ห้านาทีหรือถี่กว่านั้น และเกิดขึ้นมานานกว่า 2 ชั่วโมงแล้ว คือสัญญาณว่าคุณแม่จะคลอดแล้วและต้องรีบไปโรงพยาบาลโดยด่วนค่ะ!
  • ปวดหลัง คุณแม่อาจมีอาการปวดหลังมาหลายสัปดาห์แล้ว แต่อาการปวดหลังที่รุนแรงหรือเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันในสัปดาห์ที่ 38 นี้อาจบอกว่าคุณแม่จะคลอดแล้วได้ ต้องรีบแจ้งคุณหมอด่วนค่ะ
  • น้ำเดิน ถ้าคุณแม่รู้สึกว่ามีน้ำไหลออกมา นั่นอาจแปลว่าถุงน้ำคร่ำของคุณแม่แตกและมีน้ำคร่ำรั่วได้นะคะ คุณแม่จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการคลอดในอีกไม่นานหลังจากน้ำเดิน ต้องรีบโทร.แจ้งคุณหมอด่วนค่ะ

ในสัปดาห์นี้ การเร่งคลอดอาจเป็นเรื่องจำเป็นทางการแพทย์ในกรณีที่คุณแม่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น ครรภ์เป็นพิษหรือเบาหวาน มีอาการเป็นมดลูกอักเสบหรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับรก หรือหากคุณแม่ท้องลูกแฝดหรือมีเลือดออกในสัปดาห์ที่ 38 นี้ คุณหมอก็อาจจะบอกคุณแม่ว่า “ได้เวลาแล้ว!” แน่นอนว่าแม่ทุกคนที่คิดว่าตัวเองยังมีเวลาเหลืออีก 2 สัปดาห์ต้องตื่นตระหนกอย่างมาก แต่ทุกอย่างจะเรียบร้อยดีค่ะ เราไม่มีทางพร้อม 100% อยู่แล้ว (แต่บางทีคุณแม่อาจต้องรอไปถึงสัปดาห์ที่ 42 ก็ได้นะคะ) ทั้งคุณแม่และลูกน้อยอยู่กับคุณหมอแล้ว ไม่ต้องกังวลนะคะ

อย่าลืมว่าในสัปดาห์นี้ การเร่งคลอดตามธรรมชาติยังไม่ใช่สิ่งที่ควรทำค่ะ ลูกยังต้องการเวลาอีกเล็กน้อยในการอยู่ในท้องคุณแม่ และการเร่งคลอดบางวิธีก็ถือว่าไม่ปลอดภัยนัก ถ้าคุณแม่อยากกระตุ้นให้ตัวเองคลอด ควรปรึกษาคุณหมอก่อนนะคะ และรออีกอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์เพื่อให้ลูกอยู่ในท้องจน “ครบกำหนด” ก่อน

การอัลตราซาวนด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 38 สัปดาห์

ในท้องของคุณแม่ในสัปดาห์นี้ ลูกอาจมีผมยาวได้สัก 1 นิ้วแล้วค่ะ ตอนนี้ลูกกำลังผลัดไขขาว ๆ ที่เคลือบผิวออก (มันคือไขของทารกแรกเกิดนั่นเอง) แต่ตอนคลอดออกมาคุณแม่ก็อาจยังเห็นอยู่บ้าง

ตอนนี้คุณแม่ต้องพบคุณหมอทุกสัปดาห์แล้ว ดังนั้นสัปดาห์นี้ก็จะมีนัดเช่นเคยนะคะ คุณหมอจะดูว่าลูกเอาหัวลงและหัวของลูกลงไปอยู่ในอุ้งเชิงกรานหรือยัง จะมีการตรวจภายในเพื่อดูว่าปากมดลูกของคุณแม่เริ่มเปิดออกแล้วและบางลงหรือยัง สัญญาณทั้งสองอย่างนี้บอกว่าร่างกายกำลังพร้อมจะคลอดแล้ว แต่แย่หน่อยตรงที่ไม่มีเกณฑ์ “ปกติ” ที่ช่วยให้คาดเดาได้เมื่อปากมดลูกเริ่มเปิดและบางลง เมื่ออาการเริ่มขึ้น อาจใช้เวลาได้ตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมงจนถึงเป็นสัปดาห์ก่อนที่คุณแม่จะเริ่มเจ็บท้องคลอด แต่สมมติว่าปากมดลูกยังไม่เปิด คุณแม่ก็อาจจะเจ็บท้องในวันถัดไปได้เหมือนกันค่ะ เดายากจริง ๆ ใช่ไหมคะ!

ถ้าคุณหมออยากตรวจสอบทารกให้ละเอียดขึ้น ก็อาจจะให้คุณแม่อัลตราซาวนด์เพื่อดูขนาดตัวลูกนะคะ และอาจให้ตรวจ BPP ด้วย โดยจะมีการติดตามการหายใจ การเคลื่อนไหว ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ และอัตราการเต้นของหัวใจของลูก รวมถึงน้ำคร่ำของคุณแม่ด้วย ในบางกรณี ผลของการตรวจนี้จะช่วยให้คุณหมอตัดสินใจได้ว่าจะให้คุณแม่คลอดออกมาก่อนวันที่กำหนดไว้แต่แรกหรือไม่

รายการตรวจสอบสำหรับการตั้งครรภ์ 38 สัปดาห์

เรื่องที่ต้องทำในสัปดาห์นี้:

  1. นัดฝากครรภ์สัปดาห์ที่ 39
  2. เตรียมซื้อเสื้อชั้นในให้นมสำหรับให้นมลูก 
  3. ซื้อผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสำหรับคุณแม่
  4. ทำอาหารแช่แข็งเตรียมไว้

Processing...

"" เพิ่มไปที่ตะกร้าเรียบร้อยแล้วดูตะกร้า

เพิ่มไปที่รายการโปรดเรียบร้อยแล้ว