ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 42
21 Nov , 2020

ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 42

ยินดีต้อนรับสู่การตั้งครรภ์ “เกินกำหนด” ค่ะ ถ้าคุณอ่านมาถึงตรงนี้ ก็ถือว่าเป็นว่าที่คุณแม่กลุ่มน้อยที่อุ้มท้องมาถึงสัปดาห์ที่ 42 นะคะ อย่าไปรู้สึกว่ามีอะไรผิดปกตินะคะ หากมีคนถามว่าไหนลูกล่ะหรือทำไมถึงไม่เร่งคลอด แม่และทารกแต่ละคนนั้นแตกต่างกันไป และกำหนดคลอดก็เป็นสิ่งที่เกิดจากการประมาณเท่านั้น และบางครั้งก็อาจจะคำนวณผิดด้วยค่ะ! ดังนั้นการอุ้มท้องมาถึงสัปดาห์ที่ 42 นี้จึงไม่มีอะไรที่ผิดปกติเลยสักนิด และในขณะที่คุณแม่อาจรู้สึกว่าตัวเองใกล้บ้าจากความกังวลสารพัด อย่าลืมว่า 98% ของทารกนั้นจะคลอดออกมาในช่วงปลายสัปดาห์ที่ 42 เพราะฉะนั้นอีกไม่นานคุณแม่จะได้เจอลูกแล้วค่ะ รับปากได้เลย!

ทารกในครรภ์อายุ 42 สัปดาห์มีขนาดตัวเท่าใด

ในสัปดาห์นี้ ลูกมีขนาดเท่าแตงโมค่ะ เป็นแตงโมที่ใหญ่ขึ้นกว่าสัปดาห์ที่แล้วสักหน่อย ความยาวเฉลี่ยของทารกในสัปดาห์นี้อยู่ที่ประมาณ 20.3 นิ้ว และหนักประมาณ 8.1 ปอนด์ค่ะ ลูกยังคงโตขึ้นเรื่อย ๆ นะคะ! แต่ไม่ต้องกังวลไป ขนาดตัวของลูกจะไม่ใหญ่จนไม่สามารถคลอดออกมาทางช่องคลอดอย่างแน่นอน

ตั้งครรภ์ 42 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน

42 สัปดาห์เท่ากับ 10 เดือนกับอีก 2 สัปดาห์ค่ะ ใช่แล้ว เป็นไปได้จริง ๆ ค่ะ!

อาการเมื่อตั้งครรภ์ได้ 42 สัปดาห์

อาการในสัปดาห์ที่ 42 นี้อาจจะไม่แตกต่างไปจากที่เกิดขึ้นใน 2 - 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นตะคริว นอนไม่หลับ ปวดหลัง อึดอัดบริเวณอุ้งเชิงกราน ริดสีดวงทวาร ปัสสาวะบ่อย และมดลูกบีบตัว แค่ทุกอย่างอาจดูมีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม

คุณแม่อาจเกิดอาการเครียดได้เมื่อมาถึงสัปดาห์ที่ 42 นี้ ไม่มีใครบอกเลยว่าการท้องเกิน 40 สัปดาห์นั้นเป็นเรื่องง่าย! อดทนไว้นะคะ และให้ลูกตัดสินใจว่าอยากลืมตาดูโลกเมื่อไร

แต่สิ่งที่ต้องทราบไว้คือการตั้งท้องมาถึงสัปดาห์ที่ 42 นี้จะทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนมีมากขึ้น เช่น ปัญหาที่เกิดขึ้นกับรก ระดับน้ำคร่ำลดลง และสายสะดือย้อย ส่วนลูกก็มีความเสี่ยงที่จะต้องเข้าไปอยู่ในห้อง NICU มากขึ้น ให้คุณแม่นับลูกดิ้นอย่างสม่ำเสมอและแจ้งคุณหมอถ้าเกิดความเปลี่ยนแปลงใด ๆ รวมถึงหากมีอาการที่น่ากังวล เช่น ตกขาวผิดปกติ มีเลือดออก และมีอาการเจ็บในช่องท้อง

สัญญาณของการคลอดในสัปดาห์ที่ 42

ในสัปดาห์นี้ สัญญาณที่บอกถึงการเจ็บท้องคลอดที่คุณแม่รอคอยจะเริ่มเกิดขึ้นแน่นอนค่ะ! มีรายละเอียดดังนี้นะคะ

  • มีมูกหรือมูกเลือด มูกเหนียวที่บางครั้งอาจมีเลือดปนคือสัญญาณที่บอกว่าปากมดลูกกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด และการเจ็บท้องคลอดจะเกิดขึ้นในอีกไม่นาน เพียงแต่บอกไม่ได้ว่าจะเร็วขนาดไหนเท่านั้นเองค่ะ
  • น้ำเดิน ถ้ามีน้ำคร่ำรั่วออกมาหรือมีน้ำไหลออกมาเป็นปริมาณมาก รีบแจ้งคุณหมอค่ะ ในอีกไม่กี่ชั่วโมงคุณแม่จะเริ่มเจ็บท้องแล้ว
  • การบีบตัวสม่ำเสมอ ขอบคุณสิ่งศักสิทธิ์! สัญญาณนี้คือสิ่งที่คุณแม่รอคอยมาตลอด การบีบตัวแบบนี้จะเจ็บกว่าการเจ็บเตือนหรือเจ็บหลอกที่เคยเจอมานะคะ และที่สำคัญคือมันจะไม่หายไป การเจ็บจริงนั้นจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและถี่ขึ้น อีกทั้งยังรุนแรงขึ้นอีกด้วย (โอย!) และจะเป็นอยู่อย่างนั้นจนกว่าลูกจะออกมาค่ะ (ในที่สุด!)

สงสัยไหมคะว่าการเร่งคลอดในสัปดาห์นี้ทำได้อย่างไรบ้าง คุณแม่อาจลองวิธีธรรมชาติได้นะคะ เช่น การเดิน การมีเพศสัมพันธ์ และการฝังเข็ม แต่อย่าได้ลองกินน้ำมันละหุ่ง (อาจจะทำให้คุณเกิดอาการคลื่นไส้ได้) ใช้ยาสมุนไพร (มันอาจอันตรายต่อทั้งคุณแม่และทารก) หรือกระตุ้นหัวนม (การบีบตัวที่เกิดขึ้นอาจจะรุนแรงมากเกินและเกิดอันตรายต่อลูกได้) ห้ามเด็ดขาดเลยนะคะ

เนื่องจากในสัปดาห์ที่ 42 นี้ ความเสี่ยงต่าง ๆ อาจเพิ่มขึ้น คุณหมออาจแนะนำให้เร่งคลอดด้วยวิธีทางการแพทย์หากผลการตรวจบอกว่าลูกไม่ควรอยู่ในท้องนานไปกว่านี้ วิธีการเร่งคลอดของแพทย์มีดังนี้ค่ะ

  • การเซาะแยกถุงน้ำคร่ำหรือการกวาดปากมดลูก ในสัปดาห์นี้ เทคนิคนี้อาจทำให้ร่างกายคุณแม่เข้าสู่การเจ็บท้องคลอดในที่สุด คุณหมอจะใช้นิ้วกวาดบริเวณถุงน้ำคร่ำ และฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจะช่วยให้เกิดการเจ็บท้องภายใน 48 ชั่วโมงค่ะ
  • ทำให้น้ำเดิน คุณหมอจะใช้อุปกรณ์ที่มีลักษณะเหมือนตะขอพลาสติกเล็ก ๆ เพื่อทำให้ถุงน้ำคร่ำแตก ซึ่งจะทำให้เจ็บท้องภายในไม่กี่ชั่วโมง
  • เร่งให้ปากมดลูกเปิด เป็นการใช้ยาที่ชื่อว่าพรอสตาแกลนดินเหน็บไว้ในช่องคลอดเป็นระยะเวลาข้ามคืน หรืออาจใช้ในรูปแบบยากิน เพื่อกระตุ้นให้ปากมดลูกเปิด
  • กระตุ้นการบีบตัวของมดลูก คุณแม่จะได้รับการเจาะสายน้ำเกลือและให้ฮอร์โมนออกซีโตซิน ยาชนิดนี้จะช่วยให้มดลูกเริ่มบีบตัว

การอัลตราซาวนด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 42 สัปดาห์

เนื่องจากทารกในครรภ์วัย 42 สัปดาห์นั้นกำลังผลัดไขที่เคลือบผิวเอาไว้ออกไป ผิวของลูกจึงจะเริ่มแห้งแล้วในตอนนี้

ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจะทำให้คุณหมอต้องติดตามสภาพของลูกอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ ในการอัลตราซาวนด์ จะมีการตรวจ NST (Non-stress test) และ BPP (Biophysical profile) เพื่อให้แน่ใจว่าลูกยังเคลื่อนไหวปกติ ระดับน้ำคร่ำยังไม่ลดลง ยังหายใจปกติ และอัตราการเต้นของหัวใจยังดีอยู่

ขอให้คุณแม่วางใจว่า ตราบใดที่ลูกได้รับการดูแลจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ ลูกก็ยังสบายดีอยู่ในท้อง และอาจจะรู้สึกสบายมาก ๆ ขณะที่ยังอยู่ในมดลูกของคุณแม่ - แต่หนูจะอยู่ในนั้นตลอดไปไม่ได้ลูก!

รายการตรวจสอบสำหรับการตั้งครรภ์ 42 สัปดาห์

เรื่องที่ต้องทำในสัปดาห์นี้:

  1. เดินให้มากขึ้น
  2. ปรึกษาเกี่ยวความเสี่ยงในสัปดาห์ที่ 42 นี้กับสูตินรีแพทย์
  3. ทำใจให้สบาย!

Processing...

"" เพิ่มไปที่ตะกร้าเรียบร้อยแล้วดูตะกร้า

เพิ่มไปที่รายการโปรดเรียบร้อยแล้ว