ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 35
เตรียมตัวให้พร้อมเสมอนะคะ! ในสัปดาห์ที่ 35 นี้ คุณแม่บางคนอาจรู้สึกว่าตัวเองยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำก่อนที่ลูกจะคลอดออกมา ส่วนบางคนก็แทบรอให้ลูกออกมาดูโลกไม่ไหวแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม พยายามอย่าเครียดค่ะ ลูกจะออกมาเมื่อลูกพร้อม และจะไม่สนใจเลยสักนิดว่าคุณแม่ได้ตรวจสอบรายละเอียดทุกอย่างครบถ้วนหรือยัง ตราบเท่าที่คุณแม่มีที่ที่ปลอดภัยให้ลูกนอน มีผ้าอ้อม มีคาร์ซีตสำหรับพาลูกกลับบ้าน นั่นแปลว่าคุณแม่มีทุกอย่างที่ลูกต้องการเป็นพื้นฐานครบแล้วนะคะ
ทารกในครรภ์อายุ 35 สัปดาห์มีขนาดตัวเท่าใด
ในสัปดาห์นี้ลูกมีขนาดตัวเท่าผลสับปะรดค่ะ มีความยาวประมาณ 18.2 นิ้วตั้งแต่หัวถึงเท้า นับจากนี้เป็นต้นไปลูกจะไม่ได้ตัวยาวขึ้นมากนัก แต่จะอ้วนขึ้นแทนค่ะ ตัวอ่อนวัย 35 สัปดาห์ในท้องนั้นหนักประมาณ 5.3 ปอนด์ และอาจหนักขึ้นอีก 1 ปอนด์หรือมากกว่านั้นจากไขมันที่เพิ่มขึ้นก่อนที่จะออกมาเจอหน้าคุณแม่นะคะ
ตั้งครรภ์ 35 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน
35 สัปดาห์เท่ากับท้องได้ 8 เดือนค่ะ แม้ว่าคุณหมอจะติดตามระยะการตั้งครรภ์ของคุณแม่เป็นรายสัปดาห์มากกว่ารายเดือนก็ตาม ตอนนี้เหลือเวลาเพียงอีก 5 สัปดาห์เท่านั้นนะคะ!
อาการเมื่อตั้งครรภ์ได้ 35 สัปดาห์
ขณะที่กำลังจะก้าวผ่านเดือนที่แปดไป คุณแม่อาจจะมีอาการดังต่อไปนี้
- ปัสสาวะบ่อย ใช่แล้วค่ะ กระเพาะปัสสาวะของคุณแม่โดนลูกกดทับอยู่ทั้งคน (อาจจะมากกว่า 1 คนด้วยถ้าคุณแม่กำลังตั้งท้องลูกแฝด) ตอนนี้ลูกอยู่ต่ำลงมาบริเวณอุ้งเชิงกรานของคุณแม่ เตรียมพร้อมที่จะเกิดออกมาแล้ว ถึงแม้ว่าจะต้องไปห้องน้ำบ่อยขึ้น คุณแม่พยายามอย่าดื่มน้ำน้อยลงนะคะ เพราะการขาดน้ำจะทำให้คุณแม่เสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดได้ ดังนั้นดื่มน้ำให้มาก ๆ ไว้นะคะ
- ท้องผูก อย่างที่เราเคยบอกไว้แล้ว และก็จะบอกซ้ำอีกว่า คุณแม่ต้องรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง ๆ นะคะ แต่หากลองทุกวิธีแล้วและยังมีปัญหาเรื่องท้องผูกอยู่ ลองปรึกษาคุณหมอดูว่าคุณแม่สามารถรับประทานไฟเบอร์เสริมหรือยาถ่ายได้ไหม
- เจ็บปวดบริเวณสะโพกและอุ้งเชิงกราน อาการเจ็บเหล่านี้ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง คุณแม่อาจรู้สึกว่าเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ ขณะที่พยายามรับมือกับความไม่สบายตัวนี้ ให้ลองมองในแง่ดีนะคะ เพราะนี่คือสัญญาณที่ร่างกายกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดค่ะ ใช่แล้ว การที่คุณแม่เจ็บปวดนั้นมีจุดประสงค์ที่ชัดเจน! เส้นเอ็นในร่างกายกำลังขยายตัวออกเพื่อที่ลูกจะได้สามารถเคลื่อนออกมาจากมดลูกได้
-
เจ็บเตือนหรือเจ็บหลอก ในสัปดาห์นี้คุณแม่อาจจะสังเกตได้ว่ามีการบีบตัวของมดลูกเพิ่มมากขึ้น ท้องของคุณแม่จะแข็งได้มากอย่างเหลือเชื่อ! แต่ให้จับตาดูการบีบตัวเหล่านั้นให้ดีนะคะ เมื่อเกิดอาการ ให้คุณแม่พักและดื่มน้ำมาก ๆ ค่ะ
ท้องของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ 35 สัปดาห์
โตขึ้น โตขึ้น และโตขึ้น ใช่แล้วค่ะ ทั้งคุณลูกและคุณแม่เลย ตอนนี้เมื่อเข้าสัปดาห์ที่ 35 มดลูกของคุณแม่ขยายขึ้นจากขนาดปกติถึง 500 - 1000 เท่า เป็นตัวเลขที่ดูเหนือจริงสำหรับคนอื่นใช่ไหมคะ ซึ่งสำหรับคุณแม่แล้วมันยิ่งกว่าเหนือจริงเสียอีก เพราะมันให้ความรู้สึกราวกับเป็นล้านเท่าเลยทีเดียว ตอนนี้น้ำหนักของคุณแม่อาจขึ้นมาประมาณครึ่งปอนด์ต่อสัปดาห์จนกว่าจะคลอดเลยนะคะ
ในสัปดาห์นี้เป็นช่วงเวลาที่ดีในการทบทวนว่าสัญญาณอะไรบ้างที่บ่งบอกว่าคุณแม่กำลังจะคลอด คุณแม่อาจคิดว่านี่เร็วเกินไปหรือเปล่า แต่ผู้หญิงที่อุ้มท้องลูกคนเดียวราว 11% คลอดลูกก่อนกำหนดค่ะ ขณะที่คุณแม่ลูกแฝดก็ใกล้จะถึงกำหนดคลอดเต็มทีแล้วในตอนนี้ สัญญาณต่อไปนี้จะบอกว่าคุณแม่กำลังจะคลอดแล้วจริง ๆ และต้องรีบโทร.หาคุณหมอและคว้ากระเป๋าขึ้นรถด่วนเลยนะคะ
- น้ำเดิน คุณแม่จะรู้ตัวว่าตัวเองน้ำเดินเมื่อเกิดอาการที่แตกต่างจากการมีของเหลวออกจากช่องคลอดปกติโดยสิ้นเชิง โดยจะเหมือนมีน้ำไหลออกมาไม่หยุดมากกว่า น้ำที่ไหลออกมานั้นอาจจะมีปริมาณเยอะมาก (เหมือนในหนัง) หรืออาจจะค่อย ๆ ไหลออกมาไม่หยุดก็ได้ค่ะ
- การบีบตัวที่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด การเจ็บหลอกนั้นไม่เหมือนกับการเจ็บจริง ถ้าอยู่ดี ๆ คุณแม่รู้สึกว่าเกิดความเจ็บปวดขึ้นในท้องหรือที่หลังแทนที่จะเป็นการบีบตัวเบา ๆ นั่นแปลว่าถึงเวลาแล้วนะคะ
- การบีบตัวอย่างสม่ำเสมอ การบีบตัวของจริงจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่หายไป และจะเกิดถี่ขึ้นและเจ็บขึ้นเรื่อย ๆ คุณหมออาจจะบอกคุณแม่ไว้แล้วว่าเวลาไหนที่ควรจะแจ้งคุณหมอเกี่ยวกับการบีบตัวเหล่านั้น ช่วงเวลาที่เหมาะคือเมื่อการบีบตัวเกิดขึ้นห่างกันประมาณ 5 นาทีสำหรับท้องแรก แต่ถ้าไม่ใช่ท้องแรก ต้องโทร.แจ้งให้เร็วกว่านั้นนะคะ อาจจะตอนที่การบีบตัวเกิดขึ้นห่างกันราว 10 - 15 นาที เพราะตั้งแต่ท้องที่ 2 เป็นต้นไป ช่วงเวลาในการคลอดจะสั้นลงมากค่ะ
หากไม่แน่ใจว่าอาการใดที่บ่งบอกว่าคุณแม่กำลังจะคลอดแล้ว ให้โทร.หาคุณหมอเพื่อความแน่ใจนะคะ
การอัลตราซาวนด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 35 สัปดาห์
ตอนนี้ทักษะการฟังของลูกพัฒนาเต็มที่แล้ว ตัวอ่อนวัย 35 สัปดาห์ตอบสนองต่อเสียงสูง ๆ ได้ดีที่สุด ถ้าคุณแม่ตั้งท้องลูกชาย คุณแม่จะเห็นได้ในการอัลตราซาวนด์ว่าลูกอัณฑะของลูกเคลื่อนลงมาอยู่ในถุงอัณฑะเรียบร้อยแล้ว (คุณแม่ต้องไม่เคยคิดเรื่องนี้แน่ ๆ ใช่ไหมคะ!)
ในสัปดาห์นี้หรือสัปดาห์หน้า คุณแม่อาจได้รับการตรวจหาเชื้อ GBS นะคะ โดยคุณหมอจะเก็บของเหลวจากช่องคลอดและทวารหนักของคุณแม่ไปตรวจหาแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Group B Streptococcus การมีแบคทีเรียนี้เป็นเรื่องปกติค่ะ และจะไม่ได้ทำให้คุณแม่มีอาการป่วยแต่อย่างใด แต่อาจเป็นอันตรายต่อเด็กได้หากมีการส่งผ่านเชื้อระหว่างคลอด ดังนั้นการกันไว้ดีกว่าแก้ย่อมเป็นเรื่องที่ควรทำนะคะ ซึ่งหากผลตรวจออกมาเป็นบวก คุณแม่จะได้รับยาปฏิชีวนะระหว่างการคลอดเพื่อป้องกันการกระจายเชื้อ แค่นั้นเองค่ะ ง่ายมาก ๆ เลยใช่ไหมคะ
รายการตรวจสอบสำหรับการตั้งครรภ์ 35 สัปดาห์
เรื่องที่ต้องทำในสัปดาห์นี้:
- เตรียมประกาศว่าลูกจะคลอดแล้ว
- ศึกษาว่าสัญญาณอะไรบ้างที่บอกว่าคุณแม่กำลังจะคลอดแล้ว
- บันทึกเบอร์ที่สำคัญเอาไว้ในโทรศัพท์ให้เรียบร้อย