ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 41
21 Nov , 2020

ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 41

คุณแม่ต้องไม่เคยคิดแน่ ๆ เลยว่าตัวเองจะอุ้มท้องมาถึงสัปดาห์ที่ 41 แต่ก็มาถึงแล้วนะคะ! เนื่องจากลูกมีเวลาอยู่ในท้องมากเป็นพิเศษ จึงมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและอาจตื่นตัวมากกว่าในตอนคลอดออกมา เมื่อเทียบกับเด็กที่คลอดในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ในสัปดาห์นี้ ความกระวนกระวายอาจทำให้คุณแม่รู้สึกเหมือนแทบจะทนไม่ไหว แต่เชื่อเถิดค่ะว่ามีแม่หลายคนมากที่อุ้มท้องเกินกำหนดคลอดและทุกอย่างยังคงเป็นปกติดี คุณแม่อาจจะรู้สึกขอบคุณด้วยซ้ำที่มีเวลาเพิ่มขึ้น ก่อนที่ผ้าอ้อมและการให้นมลูกจะทำให้คุณแม่ไม่มีเวลาสนใจอย่างอื่นเลย

ทารกในครรภ์อายุ 41 สัปดาห์มีขนาดตัวเท่าใด

ในสัปดาห์ที่ 41 นี้ ลูกมีขนาดเท่าแตงโมค่ะ โดยเฉลี่ยเด็กจะยาว 20.4 นิ้ว และหนัก 7.9 ปอนด์

ตั้งครรภ์ 41 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน

เมื่อมาถึงสัปดาห์นี้ คุณแม่ท้องได้ 10 เดือนแล้วค่ะ คุณแม่เก่งสุด ๆ ไปเลยนะคะ!

อาการเมื่อตั้งครรภ์ได้ 41 สัปดาห์

อาการทั่วไปของการตั้งครรภ์ในสัปดาห์ที่ 41 นี้เกิดขึ้นต่อเนื่องจากอาการในไตรมาสที่ 3 ค่ะ ส่วนใหญ่จะเป็นดังนี้

  • อึดอัดบริเวณอุ้งเชิงกราน ลูกอาจจะเคลื่อนตัวต่ำลงมาเรื่อย ๆ และสร้างแรงกดต่อกระเพาะปัสสาวะและปากมดลูกของคุณแม่ ทำให้คุณแม่มีอาการเจ็บปวดเกิดขึ้นบริเวณช่วงล่าง
  • ริดสีดวงทวาร แรงกดที่บริเวณอุ้งเชิงกรานนั้นทำให้เส้นเลือดแถว ๆ ทวารหนักบวมจนเกิดเป็นริดสีดวง ไม่ดีเท่าไรใช่ไหมคะ และยังอาจจะแย่ลงอีกเมื่อคุณแม่ต้องเบ่งคลอด แต่ในที่สุดอาการบวมนั้นก็จะหายไปค่ะ
  • หลับยาก โทษฮอร์โมนค่ะ ผนวกกับความกังวลของคุณแม่ด้วย! ทั้ง 2 อย่างทำให้คุณแม่นอนยากสุด ๆ และหลังจากลูกคลอดแล้วก็จะยังไม่ค่อยได้นอนเท่าไรดังนั้นถือว่าเป็นการฝึกฝนนะคะ แต่ถ้าเป็นไปได้ก็ให้หาเวลาพักผ่อนให้มากที่สุดเพื่อเตรียมคลอดค่ะ
  • ปัสสาวะบ่อย ตอนนี้ลูกอยู่ตรงกระเพาะปัสสาวะของคุณแม่พอดีเลยค่ะ อาจทำให้เข้าห้องน้ำบ่อยขึ้นนะคะ!
  • มดลูกบีบตัว การบีบตัวในช่องท้องจะเกิดบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ และชัดเจนมากขึ้นทุกทีขณะที่ลูกตื่นตัวเตรียมคลอด

สัญญาณของการคลอดในสัปดาห์ที่ 41

เมื่อมาถึงสัปดาห์ที่ 41 สัญญาณของการเจ็บท้องคลอดนั้นเป็นสิ่งที่คุณแม่จำได้ขึ้นใจแล้ว! แต่มาทบทวนสักหน่อยนะคะว่าคุณแม่ต้องโทร.แจ้งคุณหมอทันทีเมื่อมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีของเหลวใส ๆ ไหลออกมาจากช่องคลอดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจแปลว่าถุงน้ำคร่ำของคุณแม่แตกแล้ว
  • เจ็บท้องต่อเนื่องและถี่ขึ้นเรื่อย ๆ

คุณแม่อาจจะอยากแจ้งคุณหมอด้วยถ้ามีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น มีเลือดออกหรือรู้สึกเจ็บภายในช่องท้อง

ถ้าคุณแม่ไม่มีสัญญาณใด ๆ ที่บ่งบอกว่าจะเจ็บท้อง อดทนเอาไว้นะคะ! เพราะเมื่อมาถึงสัปดาห์ที่ 41 แล้ว แม้ว่าปากมดลูกจะไม่เปิด แต่จู่ ๆ พรุ่งนี้คุณแม่อาจจะเจ็บท้องก็ได้นะคะ เดายากจริง ๆ ค่ะ!

การเร่งคลอดในสัปดาห์ที่ 41

คุณแม่เริ่มรอไม่ไหวแล้วหรือเปล่าคะ ขอนี้เราเข้าใจดีค่ะ การตั้งครรภ์ที่ล่วงเลยสัปดาห์ที่ 40 นั้นไม่สนุกเท่าไหร่ ท้องใหญ่มากขึ้น ใจก็พร้อมที่จะเจอลูกแล้ว และทุกคนที่ได้พบก็พูดว่า “ยังไม่คลอดอีกเหรอ!” คุณแม่สามารถลองวิธีเร่งคลอดแบบธรรมชาติได้นะคะ ตราบใดก็ตามที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย (ปรึกษาคุณหมอก่อนนะคะ) การกินของเผ็ด ๆ (ยกเว้นทำให้รู้สึกแสบร้อนกลางอก) เดินหนัก ๆ มีเพศสัมพันธ์ (ถ้าอยากมี) และอาจจะลองฝังเข็มดูก็ได้ (แม้ว่าจะไม่ค่อยแน่ใจก็ตาม)!

คุณหมออาจจะคุยเรื่องการเร่งคลอดด้วยวิธีทางการแพทย์ในสัปดาห์นี้ค่ะ เนื่องจากลูกที่อยู่ในท้องเกินกำหนดนั้นอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ถามคุณหมอได้ตามสบายเลยนะคะว่ามีวิธีอย่างไรและอาจมีความเสี่ยงอะไรบ้างถ้าอุ้มท้องต่อไป การเร่งคลอดมีข้อดีหลายข้อนะคะ (เช่นทำให้ไม่ต้องรีบร้อนมาโรงพยาบาลขณะที่เกิดอาการเจ็บท้องขึ้นมาแล้ว!) แต่การไม่เร่งให้ลูกออกมาก็มีข้อดีที่ควรนำมาประกอบการตัดสินใจเช่นกัน ผู้หญิงบางคนบอกว่าการบีบตัวนั้นจะเจ็บและรุนแรงกว่าหากมีการเร่งคลอด และอีกหลายคนก็บอกว่าการรอให้เริ่มเจ็บท้องที่บ้านนั้นสบายกว่ามาเริ่มเจ็บในห้องคลอด

ถ้าคุณแม่เลือกที่จะเร่งคลอดในสัปดาห์นี้ มีวิธีช่วยอยู่หลายวิธีเลยค่ะ

  • การเซาะแยกถุงน้ำคร่ำหรือการกวาดปากมดลูก ที่จริงแล้วนี่เป็นวิธีการชักนำการคลอดแบบธรรมชาตินะคะ แต่ต้องให้คุณหมอเป็นคนทำ วิธีนี้ดีตรงที่สามารถทำในห้องตรวจได้เลย ถ้าคุณแม่ยินดีที่จะลองวิธีที่อาจทำให้ไม่สบายตัวนี้ คุณหมอจะสอดนิ้วเข้าไปและกวาดบริวเณถุงน้ำคร่ำเพื่อเซาะแยกถุงน้ำคร่ำออกจากส่วนล่างของมดลูก และกระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้เริ่มเจ็บท้องคลอด วิธีนี้อาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จนะคะ แต่ถ้าสำเร็จ อีกไม่กี่ชั่วโมงคุณแม่จะเจ็บท้องแล้วค่ะ
  • การเจาะถุงน้ำคร่ำ คุณหมอสามารถทำให้คุณแม่น้ำเดินได้โดยการใช้อุปกรณ์พลาสติกที่มีลักษณะเหมือนตะขอเล็ก ๆ จะมีการใช้วิธีนี้ในกรณีที่คุณแม่มีอาการมดลูกบีบตัวมาระยะหนึ่งแล้วแต่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการเจ็บท้องคลอดเต็มรูปแบบ
  • ให้ยาเร่งคลอด ในสัปดาห์นี้สามารถใช้ยาเพื่อเร่งคลอดได้สองชนิดค่ะ อย่างแรกคือการใช้พรอสตาแกลนดินในรูปแบบยาเหน็บช่องคลอด โดยเหน็บไว้ข้ามคืนเพื่อให้ปากมดลูกเริ่มเปิด อย่างที่สองคือการใช้ฮอร์โมนออกซีโตซิน โดยจะเป็นการให้ทางสายน้ำเกลือเพื่อเป็นการทำให้มดลูกเริ่มบีบตัวทันที

การอัลตราซาวนด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 41 สัปดาห์

ขณะที่รอให้ลูกออกมา ลูกอาจจะอวบอ้วนขึ้นอีกเล็กน้อย ผมและเล็บของลูกยาวขึ้นอีก ไม่น่าแปลกใจเลยค่ะที่เด็กบางคนคลอดออกมาโดยที่มีผมและเล็บยาวมากจนพาไปเข้าซาลอนได้เลย!

คุณหมออาจจะตรวจ NST (Non-stress test) และอัลตราซาวนด์นะคะ เพื่อให้แน่ใจว่าลูกสบายดีทุกอย่าง ซึ่งผลการตรวจจะช่วยให้ตัดสินใจได้ว่าควรจะเร่งคลอดหรือไม่

รายการตรวจสอบสำหรับการตั้งครรภ์ 41 สัปดาห์

เรื่องที่ต้องทำในสัปดาห์นี้:

  1. นัดเข้ารับการเร่งคลอดตามความต้องการของคุณแม่
  2. พักผ่อนเตรียมคลอด
  3. ดูทีวีบ้าง!
  4. เดินเล่นให้มากขึ้น

Processing...

"" เพิ่มไปที่ตะกร้าเรียบร้อยแล้วดูตะกร้า

เพิ่มไปที่รายการโปรดเรียบร้อยแล้ว