ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 36
21 Nov , 2020

ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 36

9 เดือนแล้วเหรอเนี่ย! เวลาผ่านไปเร็วเหลือเกิน! เนื่องจากในตอนนี้ลูกสามารถเลือกที่จะออกมาเมื่อไหร่ก็ได้ คุณแม่จึงควรเตรียมการทุกอย่างให้พร้อมเอาไว้เสมอนะคะ เช่น ถ้าได้เข้าเรียนคลาสดูแลทารกเมื่อสัก 2 - 3 เดือนก่อน ให้ลองเอาเอกสารมาอ่านทบทวนดูและฝึกเทคนิคการหายใจที่ได้เรียนมาพร้อมกับคุณพ่อ ทบทวนแผนในการเดินทางไปโรงพยาบาลและเงื่อนไขที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทางต่าง ๆ แจ้งหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานว่าตอนนี้งานที่คุณแม่ดูแลอยู่ถึงไหนแล้ว พวกเขาจะได้รู้ว่าต้องรับไม้ต่อจากตรงไหนถ้าอยู่ ๆ คุณแม่ก็จะต้องขาดงานไป สัปดาห์ที่ 36 นี้ยังเป็นช่วงเวลาที่ดีในการออกไปเดทกับคุณพ่อด้วยนะคะ เราคิดว่าคุณแม่อาจจะเต้นไม่ค่อยไหวเท่าไหร่ แต่ถ้าได้รับประทานมื้อเย็นอร่อย ๆ ก็น่าจะดีทีเดียว จริงไหม

ทารกในครรภ์อายุ 36 สัปดาห์มีขนาดตัวเท่าใด

ในสัปดาห์ที่ 36 นี้ ลูกมีขนาดตัวเท่ามะละกอแล้วค่ะ ยาวประมาณ 18.7 นิ้วตั้งแต่หัวถึงเท้า และมีน้ำหนักประมาณ 5.8 ปอนด์

ตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน

เมื่อตั้งครรภ์ได้ 36 สัปดาห์ แปลว่าคุณแม่ท้องได้ 9 เดือนแล้วนะคะ! เหลืออีกเพียง 4 สัปดาห์เท่านั้นก่อนจะถึงวันคลอด เดินหน้าต่อไปอีกนิดเดียวเท่านั้นค่ะ อย่าลืมว่าการตั้งครรภ์กินระยะเวลา 40 สัปดาห์ ซึ่งแปลว่านานกว่า 9 เดือนตามที่คนทั่วไปเข้าใจกันเล็กน้อย

 

อาการเมื่อตั้งครรภ์ได้ 36 สัปดาห์

เมื่อเหลือเวลาอีกแค่ 4 สัปดาห์ อาการต่าง ๆ ที่คุณแม่ต้องเจอก็มาจากการที่ลูกใกล้จะคลอดนี่ละค่ะ ซึ่งอาจมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • หายใจได้ดีขึ้น เมื่อลูกเคลื่อนตัวลงมาอยู่บริเวณอุ้งเชิงกราน ปอดของคุณแม่ก็จะมีพื้นที่มากขึ้น และคุณแม่จะหายใจได้สะดวกขึ้นกว่าเดิมค่ะ
  • รู้สึกอึดอัดบริเวณอุ้งเชิงกราน ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นด้วยสาเหตุเดียวกับอาการก่อนหน้านั่นเองค่ะ! นั่นคือลูกเคลื่อนตัวลงมาต่ำแล้ว และสร้างแรงกดในบริเวณอุ้งเชิงกรานของคุณแม่ คอยสังเกตดูนะคะว่ามีสัญญาณของการคลอดหรือเปล่า รวมถึงการบีบตัวอย่างสม่ำเสมอที่ไม่หายไปด้วยนะคะ
  • มีปัญหาด้านการนอน ตื่นขึ้นมาตอนตีสามเพื่อเขียนโน้ตขอบคุณและจัดตู้เสื้อผ้าอีกแล้วหรือเปล่าคะ? เราเข้าใจค่ะ อยากให้คุณแม่หาวิธีการผ่อนคลายดูนะคะ แม้ว่าจะไม่ค่อยได้หลับก็ตาม
  • แสบร้อนกลางอก ลูกที่กำลังโตของคุณแม่รบกวนระบบการย่อยของคุณแม่อย่างมาก ทำให้มันไม่สามารถทำงานอย่างปกติเหมือนตอนก่อนท้อง ยาลดกรดสามารถช่วยได้ค่ะ (แต่ต้องให้คุณหมออนุญาตก่อนนะคะ) พยายามป้องกันอาการนี้ให้มากที่สุดโดยหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเปรี้ยว เผ็ด อาหารหมักดอง หรืออาหารที่มีความมันนะคะ (ไม่สนุกเลยใช่ไหม เรารู้ค่ะ แต่ว่ายังไงก็ดีกว่ามีอาการขึ้นมาใช่ไหมล่ะ)
  • ข้อเท้าและเท้าบวม การบวมเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นเรื่องปกติในสัปดาห์ที่ 36 นี้ และคุณแม่มีโอกาสที่จะเกิดอาการนี้มากขึ้นหากท้องลูกแฝด คุณแม่อาจพบว่าทันทีที่คลอดลูก อาการบวมจะหายไปจนหมด แต่ต้องระวังนะคะ! ถ้ามีอาการบวมขึ้นมาแบบเฉียบพลันหรือรุนแรง เพราะนั่นคือสัญญาณของปัญหาที่น่ากังวล แจ้งคุณหมอให้ทราบโดยด่วนค่ะ
  • ตกขาวเปลี่ยนไป ในสัปดาห์นี้คุณแม่อาจมีตกขาวเพิ่มขึ้นเนื่องจากร่างกายกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด แต่ให้เฝ้าระวังหากมีน้ำใส ๆ ไหลออกมา (นั่นอาจจะเป็นน้ำคร่ำได้ค่ะ รีบโทร.หาคุณหมอด่วนเลยนะคะ) มีเลือดออก (สัญญาณของการคลอดก่อนกำหนด) และของเหลวที่มีลักษณะคล้ายมูกหรือตกขาวที่มีเลือดปน ซึ่งอาจจะเป็นมูกบริเวณปากมดลูก การที่มูกเหล่านั้นถูกขับออกมาเป็นสัญญาณว่าคุณแม่ใกล้คลอดมาก ๆ แล้ว แต่ใกล้แค่ไหน อันนี้เราก็ไม่สามารถบอกได้นะคะ!
  • เจ็บเตือนหรือเจ็บหลอก คุณแม่อาจจะยังรู้สึกว่าในท้องมีอาการบีบเกร็งอยู่ในระยะนี้ และอาจจะรุนแรงขึ้น ที่จริงแล้วมีคุณแม่บางคนที่มาโรงพยาบาลเพราะคิดว่าตัวเองใกล้คลอด แต่แล้วก็ต้องกลับบ้านไป ในสัปดาห์นี้ หากมีอาการปวดท้องในลักษณะเดียวกับปวดประจำเดือนเป็นอย่างน้อย นั่นไม่ใช่การเจ็บเตือนหรือเจ็บหลอกค่ะ และหากคุณแม่มีอาการเจ็บที่รุนแรงมาก รีบแจ้งคุณหมอโดยด่วนนะคะ

เพราะในสัปดาห์นี้สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณแม่กำลังใกล้คลอดนั้นอาจแยกจากอาการไม่สบายตัวระหว่างตั้งครรภ์ตามปกติได้ยาก คุณแม่จึงอาจจะอยากแจ้งให้คุณหมอทราบถ้าหากมีอะไรที่ผิดปกติ โทร.ไปก็ไม่เสียหายนะคะ และใช่แล้ว ต่อให้ไปโรงพยาบาลแต่ยังไม่ได้คลอดก็ไม่เสียหายเช่นกัน อย่างแย่ที่สุดก็คือคุณแม่แค่กลับบ้านไปพักเท่านั้นเองค่ะ

ท้องของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์

ในสัปดาห์ที่ 36 นี้ ท้องของคุณแม่อาจจะไม่ได้เปลี่ยนไปมากนักจากสัปดาห์ที่แล้ว โดยรวมแล้วตอนนี้คุณแม่น่าจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมาราว 25 - 35 ปอนด์ค่ะ ซึ่งเป็นน้ำหนักที่แนะนำสำหรับผู้หญิงที่มีดัชนีมวลกายปกติ ซึ่งนั่นอาจทำให้คุณแม่เคลื่อนไหวลำบากมากขึ้น (หรืออาจจะต้องเดินอุ้ยอ้าย) น้ำหนักของคุณแม่อาจจะขึ้นอีกไม่มากนักหลังจากนี้ อาจประมาณครึ่งปอนด์ต่อสัปดาห์จนกว่าลูกจะคลอดค่ะ

ถ้าคุณแม่อุ้มท้องแฝดได้ 36 สัปดาห์ คุณแม่อาจน้ำหนักขึ้นมา 35 - 45 ปอนด์ การจะพูดว่าท้องแน่นไปหมดนั้นก็ยังถือว่าห่างไกลกับความเป็นจริงมากทีเดียวค่ะ ขณะที่ส่วนใหญ่แม่ลูกแฝดจะคลอดที่สัปดาห์ที่ 36 แต่ก็มีโอกาสที่คุณแม่จะต้องรอต่อไปอีกสัก 2 หรือ 3 สัปดาห์นะคะ อย่าลืมว่ายิ่งอุ้มท้องไปนานเท่าไร โอกาสที่ลูกจะต้องเข้าไปอยู่ในห้อง NICU หลังคลอดก็น้อยลงมากเท่านั้น ดังนั้นถึงแม้คุณแม่จะรู้สึกไม่สบายตัวอย่างมาก ให้อดทนเอาไว้และท่องไว้ว่ายิ่งนานยิ่งดีกับลูกนะคะ!

การอัลตราซาวนด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 36 สัปดาห์

ในสัปดาห์ที่ 36 นี้ ตับและไตของลูกทำงานสอดประสานกันเป็นอย่างดี การไหลเวียนและระบบภูมิคุ้มกันพร้อมแล้วเช่นกัน ตอนนี้ลูกเกือบจะสามารถหายใจเองได้แล้วนะคะ นอกจากนี้ ตัวอ่อนวัย 36 สัปดาห์ยังมีผิวที่เรียบลื่นและนุ่มขึ้นอีกด้วย ส่วนเหงือกก็เริ่มแข็งขึ้นแล้วค่ะ

ในการนัดฝากครรภ์สัปดาห์ที่ 36 คุณหมออาจจะตรวจดูตำแหน่งของลูกค่ะ ตอนนี้ลูกควรจะเอาหัวลงแล้ว แต่ถ้ายังไม่เอาหัวลง แปลว่า “ลูกไม่กลับหัว” ค่ะ อย่าตกใจไปนะคะถ้าลูกยังอยู่ในท่านั้นระหว่างสัปดาห์นี้ เพราะยังมีโอกาสที่ลูกจะกลับหัวเองได้ตามธรรมชาติอยู่ค่ะ

คุณหมออาจจะอยากช่วยหมุนเปลี่ยนท่าของทารกที่ไม่กลับหัวนะคะ การหมุนเปลี่ยนท่าคือความพยายามในการหมุนตัวทารกโดยการใช้มือดันผ่านหน้าท้องของคุณแม่ ฟังดูน่ากลัวใช่ไหมคะ (และอาจจะทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายใจเท่าไร) แต่ไม่ต้องกังวลค่ะ นี่เป็นกระบวนการที่มีความเสี่ยงต่ำและประสบความสำเร็จมากกว่า 50% โดยก่อนหน้านั้นคุณแม่จะได้รับยาที่ช่วยคลายกล้ามเนื้อมดลูก จะมีการอัลตราซาวนด์เพื่อที่คุณหมอจะได้เห็นว่าลูกอยู่ในท่าไหนและรกอยู่ที่ตำแหน่งใด ระหว่างกระบวนการจะมีการอัลตราซาวนด์ไปด้วยเพื่อให้คุณหมอรู้ว่าต้องเคลื่อนไปทางไหน และจะมีการติดตามอัตราการเต้นของหัวใจลูกทั้งก่อน หลัง หรือแม้กระทั่งระหว่างทำด้วยค่ะ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างเป็นไปอย่างปกติดีที่สุด ขอให้ทุกอย่างออกมาราบรื่นนะคะ

คุณแม่จะได้รับการตรวจหาเชื้อ GBS ในช่วงสัปดาห์นี้ด้วยนะคะ เป็นการทดสอบว่าคุณแม่มีแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Group B Streptococcus อยู่ในร่างกายหรือไม่ ถ้ามี คุณแม่อาจไม่รู้ตัวเลย และอาจทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะได้ สำหรับลูก แบคทีเรียนี้อาจทำให้เกิดปัญหาที่น่ากังวลกว่านั้นและอาจมีผลต่อชีวิตเลยทีเดียว คุณแม่ประมาณ 10 - 30% มีผลการตรวจเป็นบวกค่ะ ส่วนวิธีการรักษานั้นง่ายมาก นั่นคือคุณแม่จะได้รับยาปฏิชีวนะในระหว่างการคลอดเพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อให้แก่ลูก

แต่ถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์น้องแฝด หรือมีภาวะที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคไต หรือโรคหัวใจ คุณแม่อาจต้องได้รับการตรวจ Biophysical profile ที่เป็นการตรวจอัลตราซาวนด์ ร่วมกับการตรวจ Non-stress test เพื่อให้คุณหมอสามารถประเมินได้ว่าทารกนั้นเป็นอย่างไรบ้าง อีกทั้งยังสามารถเตรียมการได้หากต้องคลอดก่อนกำหนดด้วยค่ะ

รายการตรวจสอบสำหรับการตั้งครรภ์ 36 สัปดาห์

เรื่องที่ต้องทำในสัปดาห์นี้:

  1. นัดฝากครรภ์สัปดาห์ที่ 37
  2. จัดการเรื่องการลาคลอดให้เรียบร้อย
  3. ถ้ายังไม่ได้เลือกหมอเด็กให้ลูก ถึงเวลาเลือกแล้ว

Processing...

"" เพิ่มไปที่ตะกร้าเรียบร้อยแล้วดูตะกร้า

เพิ่มไปที่รายการโปรดเรียบร้อยแล้ว