ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 40
21 Nov , 2020

ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 40

สุขสันต์วันคลอดค่ะ! เนื่องจากสัปดาห์ที่ 40 นี้ถือเป็นเส้นชัยอย่างเป็นทางการที่ลูกจะต้องคลอดออกมา คุณแม่ควรเตรียมเปล ติดคาร์ซีตในรถ และจัดกระเป๋าสำหรับไปโรงพยาบาล เตรียมพร้อมวางไว้ที่ประตูแล้วเรียบร้อย ตอนนี้เหลือแค่เตรียมอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ในนาทีสุดท้าย เช่น ดูให้แน่ใจว่าโทรศัพท์ชาร์จแบตเต็มก่อนเข้านอนและรถมีน้ำมันพร้อมเดินทาง

ในสัปดาห์ที่ 40 นี้ คุณแม่บางคนอาจจะเอาผ้ากันน้ำมาปูเตียงเอาไว้เผื่อน้ำเดินกลางดึก ไม่ถึงกับเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำนะคะ แต่ก็เป็นความคิดที่ดีทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังคลอดลูกออกมานั้น เตียงอาจจะเปื้อนอะไรได้อีกเยอะเลยค่ะ (นม อึ ฉี่)

สัปดาห์นี้อาจจะสร้างความไม่สบายใจให้กับคุณแม่พอสมควรเลยค่ะ เพราะคุณแม่กังวลอยู่ตลอดเวลาว่าลูกจะออกมาเมื่อไรและตั้งคำถามกับตัวเองทุกครั้งที่มดลูกบีบตัวจนเจ็บ พยายามอย่าเครียดนะคะ และให้คิดว่าลูกจะมาเมื่อลูกพร้อม ตอนนั้นร่างกายคุณแม่จะมีสัญญาณบอกเองค่ะ

ทารกในครรภ์อายุ 40 สัปดาห์มีขนาดตัวเท่าใด

ในสัปดาห์ที่ 40 นี้ ลูกมีขนาดเท่าแตงโมแล้ว น้ำหนักเฉลี่ยของทารกที่ครบกำหนดคลอดคือประมาณ 7.6 ปอนด์ และตัวยาวประมาณ 20.2 นิ้วตั้งแต่หัวถึงเท้า

ตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน

เมื่อตั้งท้องมาถึงสัปดาห์ที่ 40 คุณแม่ท้องได้ 9 เดือนกว่าแล้วนะคะ! เก่งมากเลยค่ะ!

อาการเมื่อตั้งครรภ์ได้ 40 สัปดาห์

ในช่วง 2 - 3 สัปดาห์สุดท้าย อาการเดิมๆ จะยังคงเกิดขึ้นต่อไป หน้าที่หลักของคุณแม่คืออดทนกับอาการเหล่านี้เอาไว้นะคะ

  • ตะคริว พยายามยืดเหยียดน่องและกล้ามเนื้อต้นขานะคะ ตอนนอนจะได้ไม่มีอาการตะคริวมารบกวนค่ะ
  • แรงกดที่บริเวณเชิงกราน ลูกอาจจะเคลื่อนตัวลงมาอยู่ที่บริเวณอุ้งเชิงกรานของคุณแม่ ทำให้คุณแม่มีอาการไม่สบายตัวในบริเวณนั้นมากขึ้นได้
  • มีปัญหาด้านการนอน ถ้าคุณแม่นอนไม่หลับ การลุกขึ้นมาหาอะไรทำนั้นก็เป็นเรื่องดีนะคะ แต่ขอให้เป็นกิจกรรมเบา ๆ ที่สร้างความสงบ เช่น อ่านหนังสือหรือเขียนบันทึก ไม่ใช่เริ่มด้วยทำความสะอาดตู้เย็นหรือเต้นซุมบ้าเป็นอันขาดนะคะ พักผ่อนค่ะ
  • อ่อนเพลีย ยิ่งไม่ได้นอนก็ยิ่งเพลียค่ะ แต่เนื่องจากคุณแม่ไม่มีอย่างอื่นให้ต้องทำแล้ว คุณแม่จะงีบสักหน่อยก็ได้ หรืออย่างน้อยก็หาเวลาเงียบ ๆ เพื่อพักผ่อนเสียหน่อยค่ะ
  • มดลูกบีบตัว อาการเจ็บเตือนหรือเจ็บหลอกจะกลายเป็นเจ็บจริงในที่สุดนะคะ ดังนั้นถ้าดูเหมือนว่าคุณแม่เริ่มเจ็บบ่อยขึ้น ให้เริ่มจับเวลาดูว่าแต่ละครั้งห่างกันกี่นาที ถ้าเริ่มขยับเข้ามาถี่ขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มเจ็บมากขึ้นมาจริง ๆ แปลว่าคุณแม่เข้าสู่ระยะแรกของการเจ็บท้องคลอดแล้วค่ะ
  • วิตกกังวล! ลูกจะลืมตาดูโลกเมื่อถึงเวลาค่ะ คุณแม่ต้องไม่เครียดนะคะ

สัญญาณของการคลอดในสัปดาห์ที่ 40

ในสัปดาห์นี้คุณแม่อาจจะไม่มีสัญญาณอะไรที่บอกว่าจะคลอดเลยก็ได้ แต่อีกไม่นานมันจะเกิดขึ้นแน่ ๆ ค่ะ รีบแจ้งคุณหมอทันทีถ้าอาการเจ็บท้องเจ็บเกินกว่าแค่รู้สึกไม่สบายตัวและเกิดอาการถี่ขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ส่วนสัญญาณอื่น ๆ นั้นได้แก่ น้ำเดิน เพราะนี่คืออาการที่บอกว่าน้ำคร่ำแตกหรือรั่วแล้วค่ะ คุณแม่จะรู้แน่ ๆ เพราะมันจะแตกต่างจากตกขาวธรรมดาจริง ๆ และจะไหลไม่หยุด ตอนแรกคุณแม่อาจคิดว่าเป็นปัสสาวะหรือเปล่า แต่สุดท้ายแล้วคุณแม่จะรู้เองค่ะ ไม่ใช่ฉี่แล้ว! จะคลอดแล้ว! รีบโทร.หาคุณหมอด่วนนะคะ

การเร่งคลอดในสัปดาห์ที่ 40

ในสัปดาห์ที่ 40 นี้ คุณแม่อาจเริ่มกระวนกระวายแล้ว เพราะนี่ควรจะเป็นสัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์! คุณแม่อาจคิดว่าควรจะเร่งคลอดด้วยวิธีธรรมชาติไหม เราแนะนำให้ลองออกไปเดินและมีเพศสัมพันธ์ดูนะคะ (ทั้งสองวิธีนี้เป็นการฆ่าเวลาที่สนุกดีและอาจทำให้ร่างกายของคุณแม่เริ่มเข้าสู่กระบวนการคลอดค่ะ) ถ้าคุณแม่อยากลองฝังเข็มก็ได้นะคะ ปลอดภัยเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ห้ามรับประทานสมุนไพรหรือน้ำมันละหุ่งนะคะ คุณหมอบอกว่าวิธีเหล่านี้ไม่ปลอดภัยและอาจจะไม่ได้ช่วยอะไรด้วยค่ะ คุณแม่อาจเคยได้ยินกว่าการกระตุ้นหัวนมช่วยเร่งคลอดได้ มันช่วยได้จริงค่ะ แต่คุณหมอไม่แนะนำให้ลองทำนะคะ ที่จริงแล้วการกระตุ้นหัวนมนั้นอาจทำให้มดลูกบีบตัวมากเกินไปและอาจทำให้เกิดอันตรายกับลูกได้ค่ะ อย่าลองเลยดีกว่า

ตอนนี้คุณแม่ถึงกำหนดคลอดแล้ว คุณหมออาจคุยเรื่องการเร่งคลอดด้วยวิธีทางการแพทย์นะคะ การจะเร่งคลอดหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสุขภาพของลูกในท้องค่ะ (คุณหมออาจจะนัดเร่งคลอดถ้าคุณแม่มีภาวะแทรกซ้อนหรือท้องลูกแฝด) ถ้าลูกแข็งแรงสมบูรณ์ดีและคุณแม่ไม่มีอาการแทรกซ้อนใด ๆ ก็อาจไม่จำเป็นต้องเร่งคลอดและคุณแม่สามารถอุ้มท้องต่อไปได้อีกหน่อย (ใช่ค่ะ นานเป็นสัปดาห์ได้เลย ถึงจะมีโอกาสอย่างมากที่คุณแม่จะเจ็บท้องขึ้นมาเองในปลายสัปดาห์หน้า) การรอให้ลูกออกมาตอนที่พร้อมจริง ๆ เป็นเรื่องที่คุ้มค่านะคะ

การอัลตราซาวนด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 40 สัปดาห์

ทารกในครรภ์วัย 40 สัปดาห์มีผมและเล็บที่ยาวขึ้นเรื่อย ๆ ปอดของลูกก็พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกันค่ะ

เมื่อคุณแม่อุ้มท้องครบกำหนดและมาถึงสัปดาห์ที่ 40 มีโอกาสที่คุณหมอจะตรวจ BPP (Biophysical profile) นะคะ ถ้าคุณแม่ไม่เคยทราบมาก่อน นี่คือการตรวจ 2 อย่างค่ะ คุณแม่จะได้ตรวจ NST (Non-stress test) ซึ่งจะเป็นการติตตามดูการเคลื่อนไหวของลูกและการบีบตัวของมดลูกของคุณแม่ เพื่อดูว่าอัตราการเต้นของหัวใจลูกตอบสนองอย่างไร ทั้งการตรวจ BPP และ NST จะทำ 2 ครั้งต่อสัปดาห์เมื่อคุณแม่อุ้มท้องเกินกำหนด และคุณแม่จะได้รับการอัลตราซาวนด์เพื่อดูระดับน้ำคร่ำด้วยนะคะ

ถ้าผลการตรวจ BPP และ NST และ/หรือการอัลตราซาวนด์ในสัปดาห์ที่ 40 นี้บ่งบอกว่าลูกควรจะออกมา “สู่โลกภายนอก” มากกว่าในท้อง คุณหมอก็จะสั่งให้มีการเร่งคลอดค่ะ แต่ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยดี คุณแม่ก็ต้องรอต่อไปค่ะ ลูกจ๋า หนูจะอยู่ในนั้นตลอดไปไม่ได้นะลูก!

รายการตรวจสอบสำหรับการตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์

เรื่องที่ต้องทำในสัปดาห์นี้:

  1. นัดฝากครรภ์สัปดาห์ที่ 41
  2. ปรึกษาคุณหมอถึงทางเลือกในการกระตุ้นการคลอดวิธีอื่น ๆ
  3. ตรวจ Non-stress test (NST) ตามที่คุณหมอสั่ง
  4. ดูให้แน่ใจว่าซักเสื้อผ้าของลูกให้พร้อมใช้หมดแล้ว

Processing...

"" เพิ่มไปที่ตะกร้าเรียบร้อยแล้วดูตะกร้า

เพิ่มไปที่รายการโปรดเรียบร้อยแล้ว