ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 32
พร้อมหรือยังคะ? ในสัปดาห์ที่ 32 นี้ การคลอดลูกอาจจะดูเหมือนยังห่างไปอีกไกล แต่คุณแม่และลูกในท้องก็ต้องเริ่มเตรียมพร้อมในหลาย ๆ ด้านแล้ว...เผื่อว่าจะต้องคลอดก่อนกำหนดนะคะ ตอนนี้คุณแม่อาจกำลังยุ่งอยู่กับการเตรียมตัวในขั้นตอนท้าย ๆ เช่น แจ้งบริษัทประกันว่ากำลังจะคลอดลูก หรือเตรียมติดคาร์ซีตเข้ากับรถ ทารกวัย 32 สัปดาห์ในท้องนั้นน่าจะเอาหัวลงแล้วในตอนนี้ (หรือในอีกไม่นาน) นั่นหมายความว่าลูกของคุณแม่พร้อมแล้วที่จะออกมาดูโลกภายนอก แต่ไม่ต้องกังวลค่ะ คุณแม่ยังมีเวลาเตรียมตัวเตรียมใจได้อีกระยะหนึ่ง!
ทารกในครรภ์อายุ 32 สัปดาห์มีขนาดตัวเท่าใด
ทารกวัย 32 สัปดาห์ในท้องนั้นมีขนาดใหญ่เท่าลูกฟักสควอชแล้วค่ะ ลูกจะยังแข็งแรงขึ้นอีก แม้ว่าตอนนี้จะมีความยาวถึง 16.7 นิ้วและหนัก 3.8 ปอนด์แล้วก็ตาม
ตั้งครรภ์ 32 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน
ครรภ์อายุ 32 สัปดาห์เท่ากับ 8 เดือนแล้วค่ะ (อย่าลืมว่าคุณหมอส่วนใหญ่จะติดตามการตั้งครรภ์เป็นรายสัปดาห์มากกว่ารายเดือนนะคะ)
อาการเมื่อตั้งครรภ์ได้ 32 สัปดาห์
คุณแม่จะรู้สึกว่าอาการที่ประสบนั้นหนักขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากการแสบร้อนกลางอกและการบีบตัวของมดลูกจะชัดเจนขึ้นในสัปดาห์นี้ แต่เราเดาว่าตอนนี้คุณแม่อาจจะกำลังตื่นเต้นกับการที่จะได้เจอเจ้าตัวน้อยมากเสียจนอาการใดใดก็ไม่สามารถทำให้คุณแม่ลดความตื่นเต้นลงได้ หรือถ้าลดลงก็คงไม่มากนักใช่ไหมคะ
- เจ็บเตือนหรือเจ็บหลอก การ “ซ้อมบีบตัว” เหล่านี้เกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น (อาจทำให้คุณแม่สับสนระหว่างอาการนี้กับอาการปวดหน่วงท้อง) ความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างการเจ็บเตือนกับเจ็บจริงคือ การเจ็บเตือนนั้นจะไม่ทำให้เจ็บ (คุณแม่จะแค่รู้สึกเหมือนมดลูกบีบตัว) จากนั้นก็หายไป แต่การเจ็บจริงจะไม่หายไป ผู้หญิงที่ตั้งท้องลูกแฝด มีโอกาสเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดมากกว่า ดังนั้นต้องคอยสังเกตอาการเจ็บให้ดีค่ะ
- หัวนมมีสีเข้มขึ้น เอ๊ะ! อยู่ ๆ ปานนมก็ดูมีสีเข้มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ไม่มีใครรู้ว่าจริง ๆ แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนั้น แต่มีทฤษฎีหนึ่งบอกว่า ที่บริเวณนั้นมีสีเข้มขึ้น ก็เพื่อให้ลูกมองเห็นได้ชัดขึ้นเวลาจะกินนมค่ะ ร่างกายของเรามหัศจรรย์มากจริง ๆ เลยใช่ไหมคะ!
- หายใจไม่อิ่ม ไม่ต้องกังวลนะคะ ลูกหายใจได้เป็นอย่างดี มีเพียงคุณแม่คนเดียวที่หายใจได้ไม่ค่อยอิ่ม เพราะฉะนั้นอย่าเครียดมากค่ะ
- แสบร้อนกลางอก คุณแม่ดื่มยาลดกรดได้นะคะ โดยส่วนใหญ่ยานี้จะปลอดภัยสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์อยู่แล้วค่ะ
- มีน้ำนมไหลซึม ตอนนี้หน้าอกของคุณแม่ใหญ่ขึ้นและอาจจะเริ่มผลิตน้ำนมเหลืองแล้ว น้ำนมเหลืองคือของเหลวข้นสีเหลืองที่ลูกจะกินในช่วง 2 - 3 วันแรกหลังจากคลอด ไม่ต้องแปลกใจค่ะถ้าหากมีของเหลวเหล่านี้ซึมออกมาตั้งแต่ตอนนี้ คุณแม่เตรียมตัวได้โดยการเปลี่ยนมาใช้เสื้อในให้นมค่ะ
- ตกขาว ตกขาวที่เพิ่มขึ้นนั้นคือการที่ร่างกายเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด มันช่วยป้องกันการติดเชื้อในบริเวณนั้นค่ะ คอยจับตาดู Mucus plug ไว้นะคะ มันคือเนื้อเยื่อหรือเมือกที่ปิดปากมดลูกเพื่อป้องกันการติดเชื้อ มีลักษณะเหนียวและข้น (หรืออาจมีเลือดปน) ซึ่งจะออกมา 2 - 3 วันก่อนคลอด (หรือไม่กี่ชั่วโมงก่อนคลอด) ซึ่งเป็นตอนที่ร่างกายขับมันออกมา อีกอย่างที่ต้องจับตาดูคือตกขาวที่มีลักษณะเป็นของเหลวใส ๆ ถ้ามีของเหลวใส ๆ ไหลออกมาอยู่ตลอด แปลว่าคุณแม่อาจจะน้ำเดินนะคะ มันคือน้ำคร่ำที่รั่วออกมา ถ้าเป็นแบบนี้ รีบโทร.แจ้งคุณหมอแล้วไปโรงพยาบาลโดยด่วนเลยค่ะ
ท้องของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ 32 สัปดาห์
ในสัปดาห์นี้ท้องควรมีขนาดประมาณ 30 - 34 เซนติเมตรตั้งแต่ยอดมดลูกจนถึงกระดูกหัวหน่าว ในระหว่างนี้ถึงสัปดาห์ที่ 34 ลูกอาจจะ “เคลื่อนตัวลง” จากตำแหน่งใกล้ซี่โครงลงมาอยู่ใกล้กับอุ้งเชิงกราน โดยเอาหัวลงจนกว่าจะถึงวันคลอด เมื่อมันเกิดขึ้น คุณแม่จะรู้สึกได้ว่าท้องของตัวเอง “ลดต่ำลง” จากที่เคย “ท้องสูง” แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเสมอไปนะคะ เด็กบางคนก็ไม่ได้เคลื่อนตัวลงมาเลยจนกว่าแม่จะใกล้คลอดจริง ๆ
ถ้าคุณแม่ท้องลูกแฝด คุณแม่จะรู้สึกได้อย่างชัดเจนว่ามีน้ำหนักถ่วงอยู่ที่ท้องมากกว่า และมีโอกาสที่คุณแม่จะใกล้คลอดแล้ว เนื่องจากโดยเฉลี่ยแล้วครรภ์แฝดจะพร้อมคลอดตอนสัปดาห์ที่ 37 ค่ะ
การอัลตราซาวนด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 32 สัปดาห์
ลูกพร้อมที่จะเคลื่อนตัวลงมาแล้วอย่างที่เราได้กล่าวไปและควรจะอยู่ในท่าเอาหัวลงแล้วในตอนนี้ และลูกจะเริ่มรู้สึกอึดอัดมากขึ้นด้วยค่ะ
คุณแม่ควรจะมีนัดในสัปดาห์ที่ 32 นี้ เนื่องจากหมอสูติส่วนใหญ่จะอยากพบคุณแม่สัปดาห์เว้นสัปดาห์เมื่อตั้งครรภ์มาได้ถึงช่วงนี้ แต่คุณแม่อาจจะไม่ได้รับการอัลตราซาวนด์ในสัปดาห์นี้นะคะ ยกเว้นว่ามีภาวะแทรกซ้อนหรือมีอะไรที่คุณหมอต้องการตรวจสอบเป็นพิเศษ เช่น สำหรับคุณแม่ที่อุ้มท้องลูกแฝด คุณหมออาจจะอยากตรวจมากเป็นพิเศษโดยเฉพาะตั้งแต่สัปดาห์ที่ 30 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม อีกไม่นานคุณแม่ก็จะได้พบลูกแล้ว น่าตื่นเต้นใช่ไหมคะ!
รายการตรวจสอบสำหรับการตั้งครรภ์ 32 สัปดาห์
เรื่องที่ต้องทำในสัปดาห์นี้:
- นัดฝากครรภ์สัปดาห์ที่ 34
- ติดต่อบริษัทที่ทำประกันสุขภาพเอาไว้
- เอาคาร์ซีตมาติดรถ
- เตรียมเสื้อชั้นในให้นมลูก