ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 29
20 Nov , 2020

ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 29

คุณแม่คะ! ในสัปดาห์นี้คุณแม่จะพอทราบบุคลิกคร่าวๆของลูกได้แล้ว โดยสัมผัสจากการที่ลูกดิ้นค่ะ แรงเตะและชกอย่างร่าเริงเหล่านั้นจะช่วยให้เดาได้ว่า คุณแม่กำลังอุ้มท้องนักเต้นผู้อ่อนโยน หรือนินจาผู้คึกคักกันแน่! สัปดาห์ที่ 29 เป็นเวลาที่เหมาะสมในการจัดการรายละเอียดต่างๆ ให้เรียบร้อย เช่น เตรียมของใช้ที่จำเป็นไว้ในห้องลูก ไปทำความคุ้นเคยกับแผนกสูตินรีเวชและห้องคลอดของโรงพยาบาล เลือกกุมารแพทย์ประจำตัวลูก และไปดูเดย์แคร์ดีๆ เผื่อไว้ (จะต้องรอคิวนานหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับละแวกที่อยู่ของคุณแม่ด้วยนะคะ!) ช่วงนี้คุณแม่อาจจะเริ่มเก็บกระเป๋าเตรียมของใช้สำหรับวันคลอดได้แล้ว วางไว้ใกล้ ๆ ประตู จะได้สะดวกเวลาใส่ของที่นึกขึ้นได้ระหว่างรอวันคลอด และพอถึงเวลาก็จะได้หยิบไปได้เลยค่ะ

ทารกในครรภ์อายุ 29 สัปดาห์มีขนาดตัวเท่าใด

เมื่อถึงสัปดาห์ที่ 29 ลูกจะมีขนาดตัวเท่ากับฟักทองลูกโอ๊คแล้วนะคะ ซึ่งจะมีความยาวประมาณ 15.2 นิ้ว และหนักประมาณ 2.5 ปอนด์ แต่ลูกยังต้องโตขึ้นอีกมากค่ะ เชื่อไหมคะว่า น้ำหนักของเขาจะเพิ่มขึ้นอีกถึงสามเท่าก่อนที่จะคลอดเลยทีเดียว

ตั้งครรภ์ 29 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน

29 สัปดาห์เท่ากับ 7 เดือนค่ะ คุณหมอส่วนใหญ่จะติดตามการตั้งครรภ์เป็นรายสัปดาห์มากกว่ารายเดือน เนื่องจากการตั้งครรภ์ใช้เวลาทั้งสิ้น 40 สัปดาห์ ซึ่งจะเกิน 9 เดือนไปเล็กน้อยค่ะ

อาการเมื่อตั้งครรภ์ได้ 29 สัปดาห์

ในสัปดาห์ที่ 29 นี้ ลูกไม่เพียงแค่ขยับตัวบ่อยนะคะ แต่ยังอวบอ้วนขึ้นอีกด้วย และเนื่องจากตัวของลูกขยายไปกดทับระบบย่อยอาหารของคุณแม่นี่เอง คุณแม่จึงอาจมีอาการริดสีดวงทวาร แสบร้อนกลางอก เจ็บบริเวณหัวหน่าว และปัสสาวะบ่อย ซึ่งอาการเหล่านี้นับว่าเป็นอาการปกติของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์มาถึงระยะนี้ค่ะ

  • ปวดหัว และ/หรือ เวียนหัว คุณแม่อาจมีอาการปวดหัวหรืออาการใกล้เคียงกัน ถ้าพักผ่อนไม่เพียงพอ (เราเข้าใจดีค่ะว่าการนอนให้เต็มอิ่มนั้นเป็นเรื่องยากมาก!) แต่สาเหตุก็อาจเกิดจากน้ำตาลในเลือดต่ำได้เช่นกัน ดังนั้นคุณแม่ต้องพยายามรับประทานอาหารให้ตรงเวลานะคะ
  • คันท้อง ผิวหนังหน้าท้องของคุณแม่นั้นขยายออกและบางลง ทำให้บอบบางกว่าเดิม หมั่นทาโลชั่นและดื่มน้ำมาก ๆ นะคะ! คุณแม่ควรลองผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสำหรับคนท้อง และแจ้งให้คุณหมอทราบด้วย หากรู้สึกคันมากผิดปกติหรือมีผื่นขึ้นค่ะ
  • ปวดหลัง ปวดขา ปวดสะโพก อาการเจ็บปวดเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่ต้องเกิดขึ้นค่ะ เพราะร่างกายของคุณแม่ต้องแบกรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมาก และอาการเหล่านี้ยังขึ้นอยู่กับท่าทางของลูกด้วย เพราะลูกกำลังกดทับทุกสิ่งทุกอย่างอยู่จริง ๆ ค่ะ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณแม่กำลังอุ้มท้องลูกแฝด!) ยิ่งไปกว่านั้น สัปดาห์นี้กระดูกข้อต่อและเส้นเอ็นของคุณแม่จะเริ่มนิ่มลงและคลายตัวเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด แรงกดเหล่านั้นจึงทำให้คุณแม่เจ็บปวดร่างกายได้ค่ะ
  • ริดสีดวงทวาร ขนาดตัวของลูกนั้นสร้างแรงกดทับต่อระบบย่อยอาหารของคุณแม่ด้วยค่ะ (โดยเฉพาะทวารหนัก) และฮอร์โมนที่น่ารำคาญทั้งหลายก็ทำให้กล้ามเนื้อลำไส้ของคุณแม่คลายตัว เกิดเป็นอาการริดสีดวงทวาร การรับมือกับอาการเหล่านี้ทำได้โดยรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง (เช่น ผักใบเขียวต่าง ๆ) และดื่มน้ำให้มาก ๆ ค่ะ
  • ท้องผูก นี่ยิ่งทำให้ริดสีดวงทวารแย่ลงไปอีกใช่ไหมคะ การรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงและดื่มน้ำมาก ๆ ก็จะช่วยได้เช่นเดียวกันค่ะ
  • มีปัญหาด้านการนอน พยายามอย่าดื่มคาเฟอีนมากเกินไปนะคะ ให้ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ และออกกำลังกายเบา ๆ แทน โยคะคนท้อง และการออกไปเดินเล่นใกล้ ๆ บ้าน หรือเดินห้าง ก็ช่วยได้มากทีเดียวค่ะ
  • ปัสสาวะบ่อย ปวดฉี่...อีกแล้ว! ยิ่งมดลูกขยายมากขึ้นเท่าไหร่ คุณแม่ก็ยิ่งเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้นเท่านั้นค่ะ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณแม่ควรดื่มน้ำน้อยลงนะคะ ถ้าได้อ่านบทความก่อนหน้านี้ คุณแม่จะทราบว่าการดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมนั้นสำคัญต่อการช่วยบรรเทาอาการทั้งหลายที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ 29 นี้ และจำเป็นมากต่อการป้องกันการคลอดก่อนกำหนด (คุณแม่ที่มีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ หรือคุณแม่ที่กำลังอุ้มท้องลูกแฝดอาจจะมีความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดสูงกว่าคุณแม่ทั่วไปค่ะ)

ท้องของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ 29 สัปดาห์

น้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นเมื่อท้องได้ 29 สัปดาห์คือประมาณ 19 ถึง 25 ปอนด์ค่ะ ส่วนคุณแม่ที่ท้องลูกแฝด น้ำหนักควรขึ้นมาที่ประมาณ 22 ถึง 38 ปอนด์ ถ้าลองจับท้องดู คุณแม่จะรู้สึกได้ว่าส่วนบนสุดของมดลูกจะอยู่เหนือสะดือขึ้นมาประมาณ 3.5 ถึง 4 นิ้วค่ะ

คุณแม่จะรู้สึกได้ว่าลูกดิ้นบ่อย ๆ ในสัปดาห์นี้ เพราะเขาเริ่มรู้สึกอึดอัด และรู้สึกตื่นตัวจากเรี่ยวแรงที่เพิ่มมากขึ้น คุณแม่ต้องคอยนับอัตราการดิ้นของลูกไว้นะคะ เพื่อจะได้แน่ใจว่าระดับกิจกรรมของลูกเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งภายในหนึ่งชั่วโมงลูกควรจะดิ้นประมาณ 10 ครั้งค่ะ

ถ้าคุณแม่รู้สึกว่าลูกไม่ดิ้นมาสักพักแล้ว และเริ่มกังวล ให้ลองดื่มน้ำเย็นจัด เปิดเพลง หรือนอนตะแคงแล้วนวดท้องดู (ให้คุณพ่อช่วยได้นะคะ!) การทำอย่างใดอย่างหนึ่งนี้จะช่วยปลุกลูกน้อยให้ตื่นขึ้นมาได้ค่ะ แต่หากคุณแม่รู้สึกกังวลถึงกิจกรรมในท้องของลูก ก็สามารถปรึกษาคุณหมอได้เลยนะคะ คุณหมออาจจะอยากตรวจดูสักหน่อยค่ะ

การอัลตราซาวนด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 29 สัปดาห์

ลูกจะเริ่มรู้สึกคับแคบอยู่ข้างในท้องของคุณแม่มากขึ้น จากการที่เขาโตขึ้นอย่างรวดเร็วทุกวันนั่นเองค่ะ และนั่นก็แปลว่า แรงในการเตะต่อยจะหนักขึ้นด้วยเช่นกัน นอกจากนี้คุณแม่อาจรู้สึกได้ถึงแรงกระตุกเบา ๆ ถี่ ๆ แบบนี้คือลูกกำลังสะอึกอยู่นะคะ เยี่ยมไปเลย!

ถ้าท้องลูกแฝด ลูก ๆ ของคุณแม่ก็จะเบียดกันแน่นอยู่ข้างในเลยละค่ะ

ถ้ามีตารางนัดฝากครรภ์ตามปกติ คุณแม่ก็จะไม่ได้พบคุณหมอในสัปดาห์นี้นะคะ จะเป็นสัปดาห์ที่ 30 แทน แต่หากในสัปดาห์นี้ได้อัลตราซาวนด์ คุณแม่จะเห็นว่าลูกกำลังสร้างชั้นไขมันสีขาวขึ้นมาใต้ผิวหนัง ซึ่งพลังงานของลูกเกิดมาจากเจ้าสิ่งนี้นี่เองค่ะ

รายการตรวจสอบสำหรับการตั้งครรภ์ 29 สัปดาห์

เรื่องที่ต้องทำในสัปดาห์นี้:

  1. ศึกษาการตรวจต่าง ๆ ที่ต้องทำในไตรมาสที่สาม
  2. เตรียมหาพี่เลี้ยงหรือเดย์แคร์ หากคุณแม่จำเป็นต้องใช้จริง ๆ
  3. ลองผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสำหรับคนท้อง เพื่อบรรเทาอาการคัน

Processing...

"" เพิ่มไปที่ตะกร้าเรียบร้อยแล้วดูตะกร้า

เพิ่มไปที่รายการโปรดเรียบร้อยแล้ว