ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 30
21 Nov , 2020

ตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 30

คุณแม่เริ่มรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นพุงเดินได้แล้วใช่ไหมคะ ท้องอายุ 30 สัปดาห์ของคุณแม่นอกจากจะทำให้เกิดความยากลำบากในการหาท่านอนที่สบายแล้วนั้น ยังเป็นจุดสนใจที่ทำให้คนพูดถึงอีกด้วย ไม่ว่าจะไปที่ไหน ก็จะต้องมีคนที่อยากแสดงความคิดเห็นต่อรูปลักษณ์ของคุณแม่ในตอนนี้ ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องน่าขำเสมอไป และแน่นอนว่าคุณแม่จะต้องพบเจอสักคนหรือสองคนที่มักจะพูดไม่คิดและพ่นสิ่งที่ชวนให้อับอายหรือเจ็บปวดออกมา (ไม่รู้ว่าพวกเขามีปัญหาอะไรนะคะ) พยายามอย่าเก็บคำพูดเหล่านั้นมาคิดมาก เลือกเก็บแต่สิ่งที่น่าฟังเอาไว้ก็พอค่ะ เช่น เมื่อมีคนบอกว่าคุณแม่ดูผ่องใส ให้เชื่อเขานะคะ เพราะมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ! และใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษที่มีบ้างก็ได้ค่ะ เมื่อมีคนลุกให้คุณแม่นั่งบนรถไฟที่แน่นขนัด ขอให้ยินดีรับไว้นะคะ!

ทารกในครรภ์อายุ 30 สัปดาห์มีขนาดตัวเท่าใด

ในสัปดาห์ที่ 30 ลูกน้อยมีขนาดเท่าหัวซูกินีแล้วค่ะ ทารกที่มีความยาว 15.7 นิ้วและหนัก 2.9 ปอนด์นี้กำลังโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นครึ่งปอนด์และขนาดตัวยาวขึ้นครึ่งนิ้วในทุกๆสัปดาห์เลยทีเดียว

ตั้งครรภ์ 30 สัปดาห์เท่ากับกี่เดือน

สัปดาห์นี้เท่ากับคุณแม่ท้องได้ 7 เดือนแล้วค่ะ เหลืออีกแค่ 10 สัปดาห์เท่านั้น (หรือมากน้อยกว่านั้นนิดหน่อย!)

อาการเมื่อตั้งครรภ์ได้ 30 สัปดาห์

ในสัปดาห์ที่ 30 นี้ คุณแม่อาจฝันประหลาดขึ้นกว่าเดิม (ถ้าคุณแม่ได้นอนหลับนะคะ) นั่นอาจเป็นผลมาจากฮอร์โมน แต่ก็อาจเกิดจากความกังวลได้เช่นกัน ดังนั้นคุณแม่สามารถเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อให้ตัวเองพักผ่อนง่ายขึ้นได้ การทดลองขับรถไปโรงพยาบาลเพื่อคำนวณระยะเวลาในการเดินทาง ก็เป็นความคิดที่ดีค่ะ อาจจะช่วยให้คุณแม่เลิกฝันร้ายว่าตัวเองคลอดในรถได้ ส่วนอาการทั่ว ๆ ไปในสัปดาห์นี้ได้แก่

  • แสบร้อนกลางอก ถ้าคุณแม่รู้สึกว่ามีอาการแสบร้อนเกิดขึ้น ลองสังเกตดูนะคะว่าอาหารอะไรที่เป็นต้นตอของอาการนั้น (โดยทั่วไปจะเป็นอาหารมัน อาหารย่อยยาก อาหารเผ็ด หรืออาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด) พยายามหลีกเลี่ยงให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้นะคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาก่อนเข้านอน เนื่องจากอาการที่น่ารำคาญนี้จะยิ่งทำให้คุณแม่หลับได้ยากค่ะ
  • มีปัญหาเรื่องการนอน คุณแม่ต้องนอนพลิกไปพลิกมาเพราะหาท่าที่สบายไม่ได้ บวกกับความคิดต่างๆก็แล่นวนอยู่ในหัวใช่ไหมคะ นี่เป็นวงจรที่แย่มาก และจะนำมาซึ่งอีกอาการหนึ่ง คือความอ่อนเพลียนั่นเองค่ะ
  • บวม อาการบวมเล็กน้อยนั้นเกิดขึ้นได้และควรจะหายไปหรือลดลงเมื่อคุณแม่ยกเท้าขึ้นสูง แต่ต้องระวังอาการบวมที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของปัญหาได้ คอยสังเกตให้ดีนะคะ
  • อาการเจ็บปวดทั่ว ๆ ไป ท้องขนาดใหญ่นั้นทำให้คุณแม่ ปวดหลัง เจ็บสะโพก และแน่นอน...เจ็บเท้าอีกด้วยค่ะ!
  • หายใจไม่อิ่ม ปอดของคุณแม่โดนเบียดอย่างหนักใช่ไหมคะ ตอนนี้ลูกยังอยู่ในตำแหน่งที่สูงใกล้ ๆ กับซี่โครงของคุณแม่ แต่จะเลื่อนลงมาอยู่บริเวณอุ้งเชิงกรานในช่วงการตั้งครรภ์หลังจากนี้ ซึ่งอาจจะเป็นสัปดาห์ที่ 33 หรือ 34 คุณแม่จะรู้สึกได้เลยค่ะ เพราะตอนนั้นคุณแม่จะสามารถหายใจได้เต็มปอดอีกครั้ง เย้!

ท้องของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ 30 สัปดาห์

โอ๊ะ! คุณแม่อาจจะสังเกตว่าท้องในสัปดาห์ที่ 30 นี้แข็งขึ้นมาเป็นครั้งคราว ใช่แล้วค่ะ อาการเจ็บหลอกหรือเจ็บเตือนในสัปดาห์นี้เป็นเรื่องธรรมดามาก นี่เป็นวิธีที่ร่างกายเตรียมพร้อมสำหรับงานใหญ่ (การคลอดนั่นเอง) อาการเจ็บเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นหลังจากออกกำลังกายหรือมีเพศสัมพันธ์ หรือเวลาคุณแม่เหนื่อยหรือร่างกายขาดน้ำ ถ้าคุณแม่มีอาการ ให้ลองนั่งลงหรือนอนตะแคง ผ่อนคลาย และดื่มน้ำดูนะคะ ถ้าการบีบตัวยังไม่หยุด หรือถ้าคุณแม่รู้สึกถึงการบีบตัวสี่ครั้งหรือมากกว่านั้นในหนึ่งชั่วโมง รีบแจ้งคุณหมอนะคะ เพราะอาจเป็นการคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ

น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นในสัปดาห์นี้ควรจะอยู่ที่ระหว่าง 18 - 25 ปอนด์ อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณแม่อุ้มท้องลูกแฝด น้ำหนักอาจขึ้นไปได้ถึง 25 - 40 ปอนด์ ส่วนความสูงของยอดมดลูก (หมายถึงระยะตั้งแต่กระดูกหัวหน่าวจนถึงยอดมดลูก) ควรจะอยู่ที่ 28 - 32 เซนติเมตรค่ะ

กังวลเรื่องน้ำหนักหรือเปล่าคะ อยากบอกว่าอย่าไปกังวลเลยค่ะ น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมานั้นจะถูกเก็บไว้ใช้สำหรับเวลาที่ต้องให้นมลูก คุณแม่ไม่จำเป็นต้องรู้สึกแย่หรือพยายามลดน้ำหนักนะคะ คุณแม่ใช้เวลาถึง 9 เดือนในการเพิ่มน้ำหนัก ดังนั้นก็อาจใช้เวลาประมาณเดียวกันเป็นอย่างน้อยในการกำจัดมันออกไป อย่างไรก็ตาม ให้คอยสังเกตน้ำหนักเอาไว้ก็จะดีมากค่ะ เพราะน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหรือเฉียบพลันอาจเป็นสัญญาณของภาวะแทรกซ้อนที่น่ากังวล นั่นก็คืออาการครรภ์เป็นพิษ ดังนั้นคุณแม่ควรแจ้งคุณหมอให้ทราบทันทีหากน้ำหนักกระโดดขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่าน ๆ มานะคะ

ระหว่างตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 30 นี้ ลูกกลับหัวลงแล้วค่ะ ทารกวัย 30 สัปดาห์ในท้องนั้นลอยอยู่อย่างแสนสบายในน้ำคร่ำที่มีปริมาณประมาณ 700 มิลลิลิตร ข้างในนั้นอาจดูเหมือนแน่นใช่ไหมคะ แต่ลูกยังมีที่ให้เคลื่อนไหว ในสัปดาห์ต่อ ๆ ไป ท้องของคุณแม่จะยื่นออกมาจนพ้นซี่โครงเพื่อรองรับลูกค่ะ แต่ลูกก็อาจจะรู้สึกอึดอัดขึ้นเล็กน้อยเมื่อคุณแม่เข้าใกล้วันคลอดเข้าไปทุกที

การอัลตราซาวนด์เมื่อตั้งครรภ์ได้ 30 สัปดาห์

ถ้าการตั้งครรภ์ของคุณแม่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน คุณแม่ก็อาจจะไม่ได้อัลตราซาวนด์ในสัปดาห์นี้นะคะ แต่ถ้าคุณแม่มองเห็นได้ว่าลูกทำอะไรอยู่ในนั้น คุณแม่จะเห็นว่าทารกมีผิวที่เรียบลื่นขึ้น สมองเริ่มมีรอยหยักมากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นการเพิ่มพื้นที่ให้เนื้อเยื่อสมองที่สำคัญอย่างยิ่ง และตอนนี้ลูกแข็งแรงมากพอที่จะจับนิ้วได้แล้วด้วย! นี่เป็นทักษะที่ลูกจะต้องได้ใช้อย่างแน่นอนเมื่อคลอดออกมา

คุณแม่กำลังอุ้มท้องลูกแฝดอยู่หรือเปล่าคะ ในตอนนี้ทารกแฝดอาจจะมีอัตราการเติบโตในระดับเดียวกับทารกที่เป็นลูกคนเดียวแล้ว แต่เมื่อถึงจุดใดจุดหนึ่งตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงสัปดาห์ที่ 32 การเติบโตอาจจะช้าลงเล็กน้อยค่ะ

ในสัปดาห์ที่ 30 ของการตั้งท้องลูกแฝด สูตินารีแพทย์อาจจะสั่งให้ตรวจ Biophysical profile (BPP) การตรวจนี้คือการผสมระหว่างการอัลตราซาวนด์ในสัปดาห์ที่ 30 และการตรวจ Non-stress test (NST) สำหรับการตรวจนี้ คุณแม่จะต้องติดเซ็นเซอร์ไว้ที่ท้องเพื่อตรวจจับและวัดการบีบตัวของมดลูกและอัตราการเต้นของหัวใจทารก การตรวจนี้ออกแบบมาเพื่อตรวจให้แน่ใจว่าอัตราการเต้นของหัวใจทารกนั้นตอบสนองอย่างไรเมื่อเด็กขยับตัว หากทุกอย่างดูปกติดี ไม่ว่าจะเป็นการตรวจ NST หรือการอัลตราซาวนด์ คุณหมอจะสามารถตัดความกังวลเรื่องภาวะเครียดของทารกและการคลอดก่อนกำหนดออกไป เพื่อยืนยันว่าลูกทั้งสองสุขภาพแข็งแรงดี

รายการตรวจสอบสำหรับการตั้งครรภ์ 30 สัปดาห์

เรื่องที่ต้องทำในสัปดาห์นี้:

  1. นัดฝากครรภ์สัปดาห์ที่ 32
  2. ลองคิดดูว่าต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้างเมื่อลูกมาถึงบ้าน
  3. ซ้อมไปโรงพยาบาล

Processing...

"" เพิ่มไปที่ตะกร้าเรียบร้อยแล้วดูตะกร้า

เพิ่มไปที่รายการโปรดเรียบร้อยแล้ว